ทึ่ง… เยาวชนตัวน้อยแข่งขันสาวไหมด้วยมือ สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน ในงานเกษตรภาคอีสาน ปี 2566

เมื่อวันที่  28 มกราคม 2566 คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการแข่งขันสาวไหมด้วยมือ (ไหมน้อย) ระดับเยาวชน อายุไม่เกิน 15 ปี ภายใต้งานเกษตรภาคอีสาน ปี 2566  เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ให้กับเยาวชน พัฒนาและส่งเสริมการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในสังคมปัจจุบัน  โดยมี อาจารย์พัชราภรณ์ ภูมิจันทึก เป็นประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประกวดและแข่งขันภูมิปัญญาชาวบ้าน คณะทำงานสาขาการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์  และคณะอนุกรรมการจากกรมหม่อนไหม  ณ บริเวณศาลาแดง อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          อาจารย์พัชราภรณ์ ภูมิจันทึก  กล่าวว่า  การแข่งขันสาวไหมด้วยมือ (ไหมน้อย) ให้เวลาสาวไหม 1 ชั่วโมง ผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณา จะต้องมีผลงาน ดังนี้  ได้เส้นไหมน้ำหนักไม่น้อยกว่า 50 กรัม มีความสม่ำเสมอของเส้นไหม ความเรียบ ความสะอาด และการรวมตัวของเส้นไหม คือ เส้นไหมมีปุ่มปมน้อย และรวมตัวได้ดี ความเรียบร้อยของเข็ดไหมดิบ และสีของเส้นไหมเป็นไปตามธรรมชาติมีความสวยงาม”

“การแข่งขันในครั้งนี้  มีคณะอนุกรรมการตัดสินผลการแข่งขันจากภาครัฐ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขตต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการจากภาคเอกชน คือ คุณฐานุพงศ์ ธัญชัยเลิศฐากุล กรรมการผู้จัดการ หจก.ทิพย์พัฒนาไหมไทย และคณะอนุกรรมการจากสาขาวิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ รวมคณะอนุกรรมการตัดสิน 17 ท่าน ร่วมกันพิจารณาผลงานของผู้เข้าแข่งขันฯ”

“การจัดแข่งขันครั้งนี้ มีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 20 ทีม ทีมละ 2 คน โดยมีผู้เข้าแข่งขันอายุน้อยที่สุดเพียง 10 ปีเท่านั้น แต่ละทีมต่างตั้งใจแข่งขันอย่างขมักเขม้น บรรยากาศในการแข่งขันเป็นไปอย่างมีความสนุกสนาน  มีการแสดงขับกล่อมร้องลำโดยนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมงานเกษตรภาคอีสานจำนวนมาก” อาจารย์พัชราภรณ์ ภูมิจันทึก  กล่าวในที่สุด

ผลการแข่งขันสาวไหมด้วยมือ (ระดับเยาวชน) งานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566

รางวัลชนะเลิศ                  โรงเรียนบ้านสมพรรัตน์ จังหวัดอุบลราชธานี

เด็กหญิงสุรีย์ประภา  ขุมคำ

เด็กหญิงกัลย์ฤทัย  เจริญศรียงยศ

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑                     โรงเรียนร่มเกล้า จังหวัดมุกดาหาร

เด็กชายอมรินทร์  วงศ์กระโซ่

เด็กหญิงตุ๊กตา  แสงอรุณ

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒                กลุ่มหนองบัวแปะ จังหวัดมหาสารคาม

เด็กหญิงอชิรญา  แสงอรุณ

เด็กหญิงฐิติวรดา  ห่านคำวงษ์

การแข่งขันสาวไหมด้วยมือ (ไหมน้อย) ระดับเยาวชน ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นในครั้งนี้  ถือเป็นก้าวแรกของการเผยแพร่ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการอนุรักษ์ และเกิดการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ  สร้างแรงบันดาลใจเยาวชนให้รัก หวงแหน และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ พร้อมที่จะขับเคลื่อนสังคมได้ในอนาคต

ข่าว   :   วัชรา   น้อยชมภู
ภาพ  :   นักศึกษาสาขาการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์

 

Scroll to Top