สถาบันฯ ครูอาเซียน ลงนาม MOU สานต่อการพัฒนาการศึกษากับโรงเรียนร่วมใช้นวัตกรรมฯ

สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา และมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด และ โรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด จำนวน 46 โรงเรียน ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 2 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน อาคาร 2

เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กับ ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา กับ มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด และ โรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด จำนวน 46 โรงเรียน และจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ในการจัดการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (TLSOA) สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและกล่าวถึงความเป็นมาของการลงนาม MOU ในครั้งนี้ ให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูโรงเรียนในโครงการกสศ. รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 ที่เข้าร่วมพิธีฯ และเข้าร่วมการอบรม จำนวน 412 ท่าน และได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการคิด (Thinking Skills) : Thailand Lesson Study incorporated Open Approach (TLSOA) เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจร่วมกัน และส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้พัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill)

จากนั้น พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้ลงนามฝ่ายสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี ผู้ลงนามฝ่ายศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะศักดิ์ ปักโคทานัง ผู้ลงนามฝ่ายมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด และ ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 46 โรงเรียน ผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรของทุกฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียน โดยใช้โมเดลการจัดการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated Open Approach: TLSOA) เพื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถใช้โมเดล TLSOA ได้ และเพื่อการพัฒนานักศึกษาครูคณิตศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงเพื่อการประเมินความรู้ทางคณิตศาสตร์ของผู้เรียน โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี

และเพื่อเป็นการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา สถาบันฯ ยังได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการเขียนแผนการจัดการเรียนการสอนให้กับทุกโรงเรียน โดยได้ร่วมเขียนแผนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ จำนวน 9 ห้อง ประกอบด้วย

ห้องที่ 1 การเขียนแผนการสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา ตอนต้น

ห้องที่ 2 การเขียนแผนการสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา ตอนต้นและตอนปลาย

ห้องที่ 3 การเขียนแผนการสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย

ห้องที่ 4 การเขียนแผนการสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา ตอนต้น

ห้องที่ 5 การเขียนแผนการสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์

ห้องที่ 6 การเขียนแผนการสอนรายวิชาศิลปะ และการงานอาชีพ (บูรณาการ)

ห้องที่ 7  การเขียนแผนการสอนรายวิชาภาษา

ห้องที่ 8  การอบรมนักศึกษา Non-Degree (ป.โท ปี 1)

ห้องที่ 9  การทำ DE ต้นน้ำ และจัดทำโครงการขับเคลื่อนระดับเขตพื้นที่การศึกษา

ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการอบรมจำนวน 412 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถาบันฯ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ในโครงการกสศ. รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูโรงเรียนอนุบาลตราด บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีซึ่งนับเป็นโอกาสอันดี ในการที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้มีความร่วมมือกัน ร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษา อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายมหาวิทยาลัย และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่อง การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG4)

ดาวน์โหลดภาพการ MOU เพิ่มเติมได้ที่ https://kku.world/kbo2c

 

ข่าว พีรณัฐ เอี่ยมทอง
ภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน,ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา

Scroll to Top