มข. ร่วมมือเครือข่ายโทรคมนาคม 2 ยักษ์ใหญ่ พัฒนา 5G หนุนวิจัยและการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

มข. ร่วมมือเครือข่ายโทรคมนาคม 2 ยักษ์ใหญ่ พัฒนา 5G หนุนวิจัยและการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศความร่วมมือผนึก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)  นำศักยภาพ 5G ยกระดับโลกแห่งการเกษตร ปั้น Smart Farm, Smart Crop และ Smart Farming Machines และ สนับสนุนการเรียนการสอน พัฒนาวิจัย วิชาการ หนุนการเรียนรู้ทุกมิติไม่มีที่สิ้นสุด

 

วันนี้ ( 3 กุมภาพันธ์ 2563 ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล  พร้อมด้วยรศ.ดร.ดรุณี  โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  , นายธวัชชัย  ฤกษ์สำราญ เลขานุการคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นำเทคโนโลยี 5G และนวัตกรรมมายกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรไทย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งภาคการเกษตร และปศุสัตว์ ภายใต้ ‘True 5G World of Agriculture’ และเจ้าหน้าที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ด้วยเทคโนโลยี  AIS 5g Bring future today ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการการศึกษาและจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G เพื่อการเรียนการสอน   พร้อมด้วยพันธมิตรภาคการเกษตร  นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์  รองกรรมการผู้จัดการบริหารธุรกิจอาหารสัตว์บก บ. ซีพีเอฟ จำกัด   , นายรักชาติ อรุณาทิตย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โปรดิวส์ และ นายอำนาจ บุตรทองคำวงษ์ ผู้จัดการส่วนคูโบต้าโซลูชั่น บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ลงนามความร่วมมือนำศักยภาพ 5G ยกระดับโลกแห่งการเกษตร และ สนับสนุนการเรียนการสอน พัฒนาวิจัย วิชาการ หนุนการเรียนรู้ทุกมิติไม่มีที่สิ้นสุด

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล (ขวา) ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างและบริหาร สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ซ้าย)

ด้าน  ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี  กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินตามนโยบาย ด้านระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย (Ecological) ข้อ 8.3 ว่าด้วยการพัฒนาระบบการทำงานและการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  โดยได้ลงนามความร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าด้วยความร่วมมือเทคโนโลยี 5G ในระยะเวลา 5 ปีเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาเทคโนโลยี 5G มาใช้ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำการทดลองเกี่ยวกับ 5G ในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบและดูแลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินงานควบคู่กันไปในหลากมิติ และเรื่องที่สำคัญที่สุดที่กำลังดำเนินการคือ เรื่องของการให้มีสัญญาณ 5G เกิดขึ้นอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้สามารถทดลองทดสอบได้ ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้  โดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายโทรคมนาคมหลักของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
              “มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ลงนามความร่วมมือกับทาง AIS และ กสทช. แล้ว และอยู่ในระหว่างการดำเนินการลงนามความร่วมมือกับบริษัท True Corporation แต่กิจกรรมนั้นเราได้เตรียมพร้อมและก็ดำเนินการไปควบคู่กันไป ซึ่งความร่วมมือกับทางบริษัทมือถือนั้น เพื่อให้เราสามารถทำการวิจัยได้ การวิจัยนั้นจะไม่เฉพาะเจาะจง เฉพาะการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพียงอย่างเดียว แต่กยังขยายไปถึงความร่วมมือกับการที่มีผู้ใช้เครือข่าย หรือใช้โครงข่ายของ 5G ด้วย เช่น ภาคเอกชน โดยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเน้นในเรื่องของ Smart Agriculture หรือภาคการเกษตรอย่างชาญฉลาด ในเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยี 5G มาใช้ในภาคเกษตรเพื่อปรับปรุงคุณภาพของการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรไทย โดยเน้นเรื่องของการนำเอาวิจัยและเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือเฉพาะ 5G ไปใช้ ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน เพื่อสะท้อนถึงประสิทธิการทำงานได้ในพื้นที่จริง”  ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว

การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือทั้งภาคนักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคเอกชน ประกอบด้วย 2 มิติ คือด้านการเกษตร และ ด้านการเรียนการสอน  สำหรับภาคเกษตรกรรมมี  3 โครงการ โดย  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)   โครงการแรกคือ Smart Farm ฟาร์มไก่อัจฉริยะ พัฒนาจากของเดิมที่ซีพีเอฟร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำ 5G มาทดลอง และติดตั้งอุปกรณ์ IOT เพิ่มเติม อาทิเช่น กล้อง AI เพื่อดูสุขภาพของไก่ และเพิ่มเซนเซอร์ สำหรับโรงเรือน เพื่อทดสอบนวัตกรรมโรงเรือนไก่ที่ทันสมัย ประมวลผลผ่านแพลตฟอร์ม Smart Agriculture Solution และจัดเก็บบน Cloud  โครงการที่ 2  Smart Crop แปลงข้าวโพดอัจฉริยะเป็นการนำ 5G ทำงานร่วมกับ อุปกรณ์ IOT ต่าง ๆ อาทิเช่น ระบบ ตรวจจับสภาพอากาศ ระบบการควบคุมน้ำ และการใช้โดรน AI มาตรวจสุขภาพของพืช และการใส่ปุ๋ย เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการแปลงข้าวโพด ตลอดจนการวัดคุณภาพของเมล็ดพันธุ์จากการเก็บเกี่ยว และการจัดเก็บข้อมูล และโครงการที่ 3 Smart Farming Machines เครื่องจักรกลทางการเกษตรอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยี5G AR (Augmented Reality) มาทดลองใช้ในการซ่อมเครื่องจักรกลทางไกล โดยช่างผู้ชำนาญ เพิ่มความรวดเร็ว ทำให้เครื่องจักรกลมีสภาพพร้อมใช้งาน และทันต่อฤดูกาลเพาะปลูกผลผลิต โดยมีบริษัท ฟินน์ โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้จัดทำคอนเทนต์ AR

สำหรับโครงการโทรคมนาคมที่ช่วยพัฒนาด้านการเรียนการสอน โดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นวัตกรรมผลงาน 5G Smart Little Robot Companion หุ่นยนต์อัจฉริยะทำงานผ่าน 5G คือ การนำหุ่นยนต์อัจฉริยะเข้ามาทำงานในห้องสมุดว่า นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) นำมาใช้ให้บริการข้อมูลบริการห้องสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยหุ่นยนต์บรรณารักษ์ตัวแรกในประเทศไทย ให้กับนักศึกษา และผู้ใช้บริการ สามารถสื่อสารโต้ตอบได้เสมือนจริง

ผศ.ดร.เด่นพงษ์  ยังกล่าวต่ออีกว่า  “5G เป็นเทคโนโลยีที่มีความเฉพาะ ตัวเครื่องมือสื่อสารใช้ได้หลากหลาย การใช้งานช่วงแรกของ 5G  จึงเน้นไปทางวิจัย วิชาการ ภาคการเกษตร และการเรียนการสอนในภาครวม แต่ยังไม่สามารถใช้งานในเรื่องโทรศัพท์มือถือส่วนบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะมหาวิทยาลัยดิจิทัล บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับรู้ รับทราบและได้เข้าใจว่า เทคโนโลยี 5G นั้นมีจุดเด่นอย่างไร ทดลองใช้  เทคโนโลยีพร้อม ๆ กัน รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้เรียนรู้ก่อนกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่”

สำหรับการร่วมพลังครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของทุกภาคส่วน มาร่วมพัฒนาภาคเกษตรไทยให้แข็งแรง ยกระดับภาคการเกษตรไทย ตลอดจน พัฒนาการศึกษาไทย ยกระดับการเรียนการสอนไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น    ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศชาติในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรและด้านการศึกษาในอนาคต

Scroll to Top