เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 6 โดยมี รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน ในการนี้มีผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน จาก 3 มหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ้น จำนวน 536 คน ร่วมกิจกรรม ณ ห้อง Grand Orchid Ballroom โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” มีจุดเริ่มต้นจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. (Let’s walk together) โดยมีเจตจำนงค์ที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมายในการสนับสนุนและพัฒนาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประเด็น ต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการวิจัยและบัณฑิต การเรียนการสอนและพัฒนานักศึกษา การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการวางแผนและพัฒนา การงบประมาณ การสร้างรายได้ ด้านการประเมินคุณภาพทางวิชาการ และการประกันคุณภาพสถาบัน รวมไปถึง การส่งเสริมบุคลากรให้มีการสร้างความร่วมมือ ระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 6 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 – 1 ธันวาคม 2565 ได้รับเกียรติจากท่าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นวิทยากรการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “University in the Future” และ ได้กำหนดหัวข้อในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ Research Utilization (การร่วมลงทุนสินค้าและบริการนวัตกรรม (Venture Capital (VC)/Spin off Company /Holding Company กลุ่มที่ 2 ด้านการบริหารต้นทุนองค์กรภายใต้วิกฤติและความท้าทาย กลุ่มที่ 3 การบริหารจัดการองค์กร ภายใต้ความแตกต่างระหว่างวัย กลุ่มที่ 4 การพัฒนานักศึกษา Generations ใหม่ กลุ่มที่ 5 The Future of Higher Education after Covid -19 กลุ่มที่ 6 การบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์การ เพื่อนำไปสู่ Digital Transformation กลุ่มที่ 7 เครือข่ายความร่วมมือความสุจริตทางวิชาการ (Academic honesty) กลุ่มที่ 8 ห้องสมุดดิจิทัล (Digital library)
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับธงการเป็นเจ้าภาพ “มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่ได้จัดงาน ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอว่าจัดออนไลน์ดีไหม ผมเห็นว่าการจัดออนไลน์พวกเราจะไม่ได้รู้จักกันโดยตรง เพราะฉะนั้นขอเลื่อนให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นก่อนแล้วค่อยจัด กระทั่งวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ 3 สถาบันได้มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง
“จากประสบการณ์ของผม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 สถาบัน ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย โดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับ ศาสตร์ด้านการบริหาร นอกจากนี้ กิจกรรมที่ทำในโครงการนี้ของ 3 สถาบัน ยังสอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของแทบทุกองค์กร โดยได้ระบุว่า ตอนนี้ 10% ใช้วิธีอบรมสัมมนาส่งคนไปเรียน 20% นั้นมาจาก learning from peers หรือ การเรียนรู้จากเพื่อน เพราะจะเรียนรู้ได้ลึกซึ้งกว่าการฟังบรรยาย ที่เหลือ 70 %เป็น on the job training การฝึกปฎิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และ แลกเปลี่ยนระหว่างกันสำคัญมาก ซึ่งในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้มี 8 หัวข้อจาก 3 สถาบัน โดยเป็นการนำเอาจุดเด่นแต่ละแห่งมาแลกเปลี่ยนกัน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของสถาบันตัวเองได้ ดังนั้นการที่ 3 สถาบันได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน กอปรกับการมีพื้นที่ครอบคลุมทั้ง เหนือ อีสาน ใต้ ของประเทศไทย จะนำไปสู่การพัฒนาสังคม และ ภาพกว้างในระดับประเทศอย่างแน่นอน” อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
ทั้งนี้โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 6 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กิจกรรมช่วงเช้าประกอบด้วย พิธีเปิด ต่อจากนั้น ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงนโยบาย ทิศทางการขับเคลื่อนของแต่ละมหาวิทยาลัย และ การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “University in the Future” โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การแบ่งปันประสบการณ์/ความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมของคณะทันตแพทยศาสตร์ ระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย ในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหัวข้อ 8 กลุ่ม ในช่วงค่ำ เป็นงานเลี้ยงรับรอง และ พิธีมอบธงการเป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งถัดไป โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับธงเป็นเจ้าภาพในครั้งที่ 7 และ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นการนำเสนอการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากทั้ง 8 กลุ่ม
ข่าว / ภาพ : กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
KKU hosts the 6th traditional learning and sharing of KKU, CMU and PSU