เมื่อวันทื่ 20-21 และ 25-26 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามแม่ข่ายสถาบันผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย 19 สถาบัน ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ระยะเข้าสู่วิชาชีพ รุ่นที่ 5 รุ่นบรรจุปี 2563 เพื่อเป็นเวทีให้ครูในโครงการฯ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ และเข้าร่วม Work Shop การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพของครูในโครงการฯ ที่ได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวในพิธีเปิดโครงการว่า “ในนามประธานแม่ข่ายสถาบันผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ระยะเข้าสู่วิชาชีพ รุ่นที่ 5 รุ่นบรรจุปี 2563 “The 3rd Workshop of Teacher Induction: Smart Teaching and Learning for The Next Generation Classroom: Technology Enhance Active Learning” ในวันนี้
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครูในสถาบันฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิลำเนาของตนเอง และต้องเข้าร่วมโครงการพัฒนาวิชาชีพในช่วงที่ปฏิบัติงานเป็นครูผู้ช่วย หลังจากการบรรจุเข้ารับราชการภายใน 2 ปี ซึ่งในปี 2563 ครูในโครงการ ฯ รุ่นที่ 5 ได้รับการบรรจุแล้ว จำนวน 646 คน โดยแบ่งการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 วันที่ 20-21 ตุลาคม 2565 จำนวน 324 คน และรุ่นที่ 2 วันที่ 25-26 ตุลาคม 2565 จำนวน 322 คน ในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์ผลงาน การผลิตสื่อ การจัดกิจกรรมในชั้นเรียน การเพิ่มศักยภาพของผู้เรียน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ แก่นักเรียน นักศึกษาในชั้นเรียนของตน และพัฒนาขีดความสามารถของผู้สอนเอง ให้ทันต่อเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา ขอให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ขอให้ทุกๆ ท่านได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มีค่า เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาวิชาชีพครูต่อไป”
โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างสรรค์ผลงาน การนำเสนอผลงาน กิจกรรมงานวัด และการมอบรางวัลการนำเสนอผลงาน “Out Standing Awards” ที่ชนะเลิศในแต่ละห้องปฏิบัติการ นอกเหนือจากการให้รางวัล สิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง ที่จะช่วยพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น นั่นก็คือการที่คุณครูได้นำเทคนิควิธีการและแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ไปพัฒนา ต่อยอด ออกแบบการจัดการเรียนรู้ และสร้างชั้นเรียน ตามจุดมุ่งหมายของการพัฒนาครู “Smart Teaching and Learning in The New Normal” เพื่อพัฒนาผู้เรียนต่อไป