ศาสตราจารย์ ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างชื่อให้มหาวิทยาลัย รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีนานาชาติ จากเวที “2022 Shanghai International Invention and Innovation Exhibition” ในผลงานการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากมะม่วงหิมพานต์ในรูปอาหารสุขภาพ
เมื่อวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2565 ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี กรุงเทพฯ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากการประกวด ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 164 ผลงาน จาก 11 เวที ระดับนานาชาติ หนึ่งในรางวัลแห่งความภาคภูมิใจมีนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ จากเวที “2022 Shanghai International Invention and Innovation Exhibition” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน คือ ศาสตราจารย์ ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ กับชื่อผลงาน “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากมะม่วงหิมพานต์ในรูปอาหารสุขภาพ” โดยส่งในนาม สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) (นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย เหรียญทองจำนวน 9 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 9 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 8 รางวัล) เข้ารับมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีในครั้งนี้
สำหรับการจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) มี ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี และมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ พร้อมทั้ง ปาฐกถาพิเศษ “นโยบายและทิศทางในการผลักดันสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมสู่เวทีนานาชาติ” พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานฯ การจัดงานครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากการประกวด นับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 164 ผลงาน จาก 11 เวที ระดับนานาชาติ
ข้อมูล : กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และ เว็บไซต์ (4 plus education) https://bit.ly/3Qui9V8
รวบรวม เรียบเรียง : เบญจมาภรณ์ มามุข