วันอังคาร ที่ 7 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2565 กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายนักจัดรายการวิทยุ (เครือข่ายหน่วยงานภายนอก) โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายชุมพร พารา ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น บุคลากร ที่ปฏิบัติงานที่สถานีวิทยุกระจายเสียง FM.103 MHz. และ เครือข่ายนักจัดรายการ (เครือข่ายหน่วยงานภายนอก) กว่า 26 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมสภาพนักงาน ชั้น 2 อาคารแก่นกาลพฤกษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายนักจัดรายการวิทยุ (เครือข่ายหน่วยงานภายนอก) ครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านนักจัดรายการวิทยุ ของสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี พร้อมกับ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างนักจัดรายการวิทยุทั้งเครือข่ายนักจัดรายการภายในและภายนอก และ สร้างความร่วมมือในการพัฒนาการจัดรายการวิทยุของสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น F.M.103 MHz. ให้สอดคล้องกับพันธกิจและ สนองตอบต่อยุทธศาสตร์เพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโอกาสได้พบปะกับเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุซึ่งจะมาช่วยกันระดมสมองแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดรายการสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น F.M.103 MHz.ซึ่งก่อตั้งมาแล้ว 48 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2517
“ประเด็นสำคัญของสถานีวิทยุ คือ ตอนนี้โลกสื่อสาร ณ ปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารใหม่ๆมากมาย ผู้รับข่าวสารก็เปลี่ยนวิธีการรับ เพราะฉะนั้นการดำเนินการสถานีวิทยุจึงเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ว่าเราจะทำสถานีวิทยุอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์ ในขณะที่สถานีวิทยุของเราถูกความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นถูกทดแทน-เปลี่ยนแปลง ฉะนั้น เราจะแก้อย่างไร? หรือ ปรับตัวอย่างไร ? เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ฉะนั้น ผมคิดว่าเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุจะเป็น input ที่สำคัญที่จะระดมสมองตอบคำถามว่าสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร”
“เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหน่วยงานของรัฐ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. . ให้โดยไม่ได้พึ่งพาสปอนเซอร์ ซึ่งผมคิดว่าการสื่อสารในช่องทางนี้ยังเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อยู่ เพียงแต่ว่าเราจะปรับตัวอย่างไร? วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดี และ ขอบคุณเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุที่ท่านให้เวลากับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการมาร่วมระดมสมองและเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีของเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุ ในเรื่องของช่องทางที่อยู่กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาอย่างยาวนาน คือ สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. เวลาขับรถมาทำงานจะเปิดฟังอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะดำเนินการในครั้งนี้ จึงมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาให้ FM 103อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อไป
“เบื้องต้นที่เราได้ทำ คือ เสาส่งสัญญาณ ที่เริ่มต้นใช้เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว หากจะซ่อมแซมก็ใช้งบประมาณพอๆ กับการจัดตั้งใหม่ และ ประกอบกับเราต้องการขอใบอนุญาตจาก กสทช. เพื่อให้ FM 103 มีใบอนุญาตในการออกอากาศอย่างถูกต้อง จึงได้ขออนุญาตท่านอธิการเมื่อกลางปีที่แล้วเปลี่ยนเสาใหม่ หลังจากนั้นสิ่งที่ทำเป็นอันดับต่อมา คือ การพัฒนาบุคลากรที่อยู่กับสถานีวิทยุ103 เดิมทีมีน้อง ๆ อยู่ประมาณ 4-5 คน ที่มีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราว เราอยากให้น้องๆมีกำลังใจในการทำงานจึงได้นำเสนอเรื่องนี้ และ ปรับให้น้องๆเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ เป็นสิ่งที่น้องๆควรได้ หากการทำงานมีสถานะที่ไม่มั่นคง ย่อมไม่มีกำลังใจที่จะทำงานให้เกิดความก้าวหน้า”
อาจารย์ณัฐสมล กล่าวต่อไปว่า “ก่อนที่เราจะพัฒนางาน เราต้องพัฒนาสิ่งที่ใกล้ตัวก่อน คือ การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือให้ทันสมัย บุคลากรต้องมีความพร้อมมีกำลังใจในการขับเคลื่อน ลำดับต่อมาอาจารย์ จึง ดำเนินการเรื่องใบอนุญาต ประจวบเหมาะกับ กสทช.มีการเปิดให้ขอใบอนุญาต ซึ่งมีรายละเอียดในการทำเอกสารค่อนข้างมาก แต่วันนี้เราสามารถทำสำเร็จแล้ว ลำดับต่อมาที่จะดำเนินการ คือ การปรับปรุงห้องส่งให้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ โดยได้ของบประมาณกับท่านอธิการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อาจารย์ยังเชื่อมั่นว่าสถานีวิทยุของเรามีผู้ฟังเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้มีการสำรวจ อาจจะต้องมีการสำรวจ มีการไปเยี่ยมเครือข่ายแต่ละสถานี และ มีการประเมินผู้เข้าฟัง และสอบถามว่า มีเรื่องใดบ้างที่อยากให้เผยแพร่ข้อมูลในสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉะนั้น หวังอย่างยิ่งว่าการจัดสัมมนาครั้งนี้ นักจัดรายการทุกท่านจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้พูดคุยกันว่าเราจะช่วยกันขับเคลื่อนสถานีวิทยุ FM 103 ให้มีความก้าวหน้า และ เราคาดว่าจะจัดกิจกรรมลักษณะนี้อีกเพื่อที่จะได้มาอัพเดทข้อมูลซึ่งกันและกัน ขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาในวันนี้” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวปิดท้าย
นายชุมพร พารา ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ ผู้อำนวยการสถานี วิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. กล่าวว่า เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายนักจัดรายการวิทยุ กำหนดจัดขึ้น 2 วัน คือ วันที่ 7 มิ.ย. โดยจะเป็นเครือข่ายนักจัดรายการหน่วยงานภายนอก/เครือข่ายสถานีวิทยุ/เครือข่ายชุมชน และ วันที่ 9 มิ.ย.จะเป็นเครือข่ายนักจัดรายการภายในมหาวิทยาลัย
“สถานีวิทยุฯแห่งนี้เป็นสถานีที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ประเภทที่หนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร กีฬา สุขภาพอนามัย และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยไม่มีการหารายได้ ดังนั้นภารกิจสำคัญของสถานี จึงเป็นการให้บริการแก่ สาธารณชน ชุมชน และสังคม ทั้งในด้านความรู้ ข้อมูลข่าวสาร สาระ และความบันเทิงต่างๆ ผ่านรายการวิทยุ มีคำขวัญของสถานีที่ว่า “สถานีความรู้ ข่าวสาร บริการสาธารณะ” ซึ่งจัดรายการโดย1 )นักจัดรายการทั้งที่เป็นบุคลากรของสถานีฯ 2)เครือข่ายนักจัดรายการภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ คณาจารย์/นักวิจัย/เจ้าหน้าที่/นักศึกษา และ 3)เครือข่ายภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือทุกท่าน เพื่อนำเอาองค์ความรู้จากภาคส่วนต่างๆ เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุฯแห่งนี้ ส่งมอบคุณค่าแก่สาธารณะ ดังนั้น ในวันนี้ นอกจากการพบปะกันแล้ว หวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทางในการดำเนินพันธกิจให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้” ผู้อำนวยการสถานี กล่าว
นายเฉลิมชัย วงษ์นาคเพ็ชร์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะ นักจัดรายการ สาระน่ารู้เรื่องน้ำ สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. เผยว่า ด้วยแรงผลักดันของหลายๆฝ่าย ทำให้เราได้มีการปรับปรุงอาคารอาคารแก่นกาลพฤกษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ได้เห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านกายภาพ ด้านเทคนิค ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอขอบคุณท่านอธิการบดี และ ขอขอบคุณอาจารย์ณัฐสมล ผอ.ชุมพร ที่ได้ตอบสนองนโยบาย และ มีความมุ่งมั่นเช่นกัน
“ผมเองสมัยก่อนเป็นนักจัดรายการภายนอก โดยจัดมา 20 กว่าปี และ เห็นการเปลี่ยนแปลงของที่นี่มาโดยตลอด ซึ่งวันนี้เป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก เพราะเป็นวันที่ FM 103 ได้เปิดโอกาสให้นักจัดรายการทุกท่านได้แสดงความเห็นแสดงความรู้สึกรวมทั้งเสนอแผนที่เราจะร่วมกันพัฒนา การที่ท่านอธิการบดีบอกว่าเราใช้งบประมาณมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนสถานีวิทยุ หมายความว่า เราใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ดังนั้นเราควรตอบแทนภาษีอากรประชาชนในแง่ของความรู้ การพัฒนาการสิ่งต่างๆ เท่าที่ผู้ฟังจะสามารถรับฟังได้”
“ผมมั่นใจว่านักจัดรายการทุกท่านจะมีแฟนเพลงของตนเอง ถ้าเรานับกลุ่มแฟนเพลงของแต่ละคนมารวมกันน่าจะมีจำนวนไม่น้อย เพียงแต่ว่าผมเอง ได้เคยเรียนท่านผู้บริหารรวมทั้งหลายๆ คน ที่มีโอกาสได้พูดคุยว่าปัจจุบันขอบเขตของการรับฟังของFM 103 หรือ สถานีวิทยุอื่นๆมีจำนวนกิโลเมตรที่ค่อนข้างจำกัด คือ 70-80 กิโลเมตร แต่ในปัจจุบัน เป็นยุคที่ไร้พรมแดน ไม่มีขอบเขต เพราะว่าแฟนรายการบางท่านก็ฟังจากกรุงเทพฯ เวลาเดินทางไปไหนก็สามารถรับฟังทางออนไลน์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผมคิดว่า นักจัดรายการควรจะสนับสนุนแฟนคลับของเราให้มีการการรับฟังของเราผ่านทางช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทาง KKU Radio FM103 Mhz หรือ ทางเว็บไซต์ https://radio.kku.ac.th/ ผมคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ที่ช่วยทำให้ความรู้ที่พวกเราศึกษาข้อมูลและ นำมาจัดรายการมันถูกเผยแพร่ไปและเกิดประโยชน์จริงๆ และ ยังนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของนักจัดรายการ”
“นอกจากนี้ผมมองว่าเรามีองค์ความรู้เยอะมาก นักจัดรายการทุกท่าน และ มหาวิทยาลัยมี องค์ความรู้เฉพาะตัว ฉะนั้นผมเองจึงอยากนำเสนอให้เอาคลิปหรือข่าวสารสั้นๆประมาณ 20 วินาทีหรือ 30 วินาที ไม่เกิน 1 นาทีนำไปเผยแพร่ตามวิทยุชุมชน เนื่องจากบางครั้งขับรถไปตามต่างจังหวัด และเปิดฟังวิทยุชุมชนได้ยินแต่โฆษณา แม้ว่าบางสถานีจะมีสาระ แต่สาระมีจำกัดมาก เพราะด้วยความที่เป็นวิทยุชุมชนจึงไม่สามารถที่จะนำเอาองค์ความรู้จากที่ไหนมาเลย ผมเลยคิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นผลิตสื่อสั้นๆ รวมทั้งได้ความร่วมมือของนักจัดรายการ แล้วส่งออกไปให้วิทยุชุมชน นำไปเปิดแบบไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อเอาความรู้ที่เรามีมากมายไปทำให้เกิดประโยชน์”
“การเผยแพร่องค์ความรู้เป็นเรื่องที่ดีมากถ้าได้เผยแพร่ไปตามสถานีวิทยุชุมชน รวมไปถึง สปอตโฆษณาบางเรื่องของ สสส. หรือ การที่เราส่งเสริมเรื่องสุขอนามัย อย่างเช่น การรณรงค์เรื่องการงดสูบบุหรี่ การรณรงค์เรื่องของการประหยัดพลังงาน องค์ความรู้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีสังกัด ยิ่งได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อมทุกอย่าง เหลือเพียงความร่วมมือร่วมใจจากนักจัดรายการที่จะช่วยกันหาช่องทางในการเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้เพื่อพัฒนาสังคมของพวกเราร่วมกัน คิดว่านี่คือหน้าที่ที่เราควรทำ เพราะว่าไม่ได้เพิ่มเติมภาระอะไรเรามากมาย ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ”
“เพราะว่าในการจัด ranking ของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการจัดอันดับในเรื่องของการอุทิศ หรือ การทำประโยชน์สู่สังคม เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งผมมองว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นครองอันดับที่น่าภูมิใจ และ มีคุณค่าอย่างยิ่งเช่นนี้ต่อไป นี่เป็นเรื่องที่ผมดีใจมากที่ผู้บริหารทุกยุคทุกสมัยพยายามทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยของทุกๆคน แม้กระทั่งสโลแกนของสถานีวิทยุก็เป็นสถานีวิทยุเพื่อชุมชน ฉะนั้นในฐานะที่เป็นนักจัดรายการวิทยุคนหนึ่ง และ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อยากให้ทุกท่านช่วยแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ที่เราจะช่วยพัฒนาและทำให้สังคมของเราดีขึ้นในทุกๆด้านจากองค์ความรู้ของพวกเรา”นายเฉลิมชัย กล่าว
สำหรับโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านนักจัดรายการวิทยุ ของสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้เครือข่ายนักจัดรายการวิทยุ ภายใต้หัวข้อ การร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาการผลิตรายการวิทยุสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM ๑๐๓ MHz. และ เครือข่ายอยากให้สถานีวิทยุ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในด้านใด กำหนดจัดขึ้น 2 วัน คือ วันที่ 7 มิ.ย. เป็นกลุ่มเครือข่ายนักจัดรายการหน่วยงานภายนอก/เครือข่ายสถานีวิทยุ/เครือข่ายชุมชน และ วันที่ 9 มิ.ย.เป็นกลุ่มเครือข่ายนักจัดรายการภายในมหาวิทยาลัย