สำนักข่าว : แนวหน้า
URL : https://www.naewna.com/local/552109
วันที่เผยแพร่ : 12 ก.พ. 2564
เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังภาคอีสานต้องเผชิญปัญหาที่ไม่แน่นอนด้านการเพาะปลูกในทุกๆ ปี ตั้งแต่ลักษณะสภาพดินที่เค็มและไม่อุ้มน้ำ ซ้ำร้ายในบางปีฝนฟ้าอากาศก็ไม่ตกตามฤดูกาล ทั้งปัญหาผลผลิตล้นตลาดและสภาวะราคามันสำปะหลังตกต่ำลง (ข้อมูลจากสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยระบุว่าราคามันสำปะหลังในปี 2564 ตกเพียงกิโลกรัมละ 2-2.7 บาทเท่านั้น) และนอกจากนี้ยังมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะเพิ่มมูลค่าให้แก่มันสำปะหลัง แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแผ่นทอดกรอบภายใต้แบรนด์ “มันไฟว์(Munfive)” ได้เติบโตขึ้น เมื่อ“คุณชนวีร์ สุดโตตระกูล” ต้องการที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่มันสำปะหลัง จึงลองนำมันสำปะหลังมาทอดและแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว พร้อมบรรจุลงในถุงห่อใสจำหน่ายภายในชุมชน โดยคุณชนวีร์ เปิดเผยว่า “ผมลาออกจากงานประจำ กลับมาอยู่บ้านกับแม่ ที่อำเภอบ้านไผ่ แม่เป็นเกษตรกรที่ปลูกทุกอย่าง รวมทั้งมันสำปะหลัง พอดีไปเห็น product ของต่างประเทศที่ใช้มันสำปะหลังชนิดหวานทำ และที่บ้านมีก็เลยลองแปรรูปดูจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”
อย่างไรก็ตาม มันไฟว์ก็ยังประสบปัญหาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอต่อตลาดใหญ่ ปัญหาการขาดทุนในตลาดเล็ก และปัญหาที่ไม่สามารถตีตลาดไทยแตก เนื่องจากปัจจัยคนไทยยังนิยมบริโภคมันฝรั่งมากกว่า จนสุดท้ายได้มีโอกาสไปออกบูธที่งาน THAIFEX-Anuga Asia มีลูกค้าจากจีนและสหรัฐฯ สนใจในผลิตภัณฑ์ นั่นจึงทำให้คุณชนวีร์เลือกที่จะพาธุรกิจมันไฟว์เดินต่อด้วยช่องทางใหม่ คือ การส่งออกนอกประเทศ โดยคุณชนวีร์ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “การส่งออกไปจีนได้มีการขอ อย. และทำการส่งออกเอง ส่วนของสหรัฐฯ มีมาตรฐานค่อนข้างสูงจึงเป็นการส่งผ่านตัวแทน (Trade) แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องแข่งกับอินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน” ทั้งนี้ การเติบโตของธุรกิจมันไฟว์ นอกจากจะส่งผลดีต่อเจ้าของธุรกิจ ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะมีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่ และถือเป็นการยกระดับความรู้เกษตรกรอีกด้วย โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ได้พาเกษตรกรมาศึกษาดูงานที่ บริษัทบุญทัน ฟูดส์ ซึ่งการมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ส่งผลให้เกษตรกรเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาศักยภาพในการผลิตมันสำปะหลังของตนเองต่อไปได้
นอกจากนี้ คุณชนวีร์ยังกล่าว ถึงหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่า “ผมเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการกับทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มจากพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์กับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีตัวสินค้าเป็นตัวซองสีส้มและสีดำ แต่ก่อนทำตามความคิด แต่ว่าการทำธุรกิจต้องมีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Product ชิ้นนึงขึ้นมาเพื่อจะให้ออกตลาดต้องอาศัยความรู้หลายๆ ด้าน เช่น การออกแบบ อย่างผมก็มีสูตรในการทำขนมอยู่แล้วจะทำยังไงให้สินค้าเรามีรูปลักษณ์ภายนอกสามารถที่จะแข่งขันในตลาดได้ ก็เลย walk-in เข้าไปที่หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีฯ ม.ขอนแก่น”
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทอดกรอบ“มันไฟว์” เรียกได้ว่านอกจากจะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจแล้ว ยังประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอีกด้วย นับว่าเป็นการช่วยกระจายรายได้และคืนกำไรสู่ท้องถิ่น อีกทั้งเป็นฐานความรู้ที่ช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ให้สามารถขับเคลื่อนและต่อยอดธุรกิจมันสำปะหลังต่อไปได้ในอนาคต