สำนักข่าว : บ้านเมือง
URL :https://www.banmuang.co.th/news/region/222056
วันที่เผยแพร่ : 5 ก.พ. 2564
นายกสภาฯ ชู Health Tech วิเคราะห์ และวิจัย เกิดโครงการมาตรการที่ช่วยประชาชน ช่วยรัฐเอกชน ย้ำการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนต้องมาก่อน อธิการบดีดัน Telehealth ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ผ่านระบบโทรคมนาคม ติดตามผลและทำการรักษาที่บ้านได้ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ดันสร้างรากแก้วให้ประเทศ ตามโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล รองปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยจ้างงานนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ประชาชนในพื้นที่ 20 อัตรา ดำเนินการกว่า 3,000 ตำบลทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดความยากจน ย้ำเราต้องผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ ไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ที่ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)สภามหาวิทยาลัยและคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย กรรมการบริหารและสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมร่วม ภายใต้งาน Meeting the Challenges of 2021: Going Beyond the Cocoon of KKU Campus โดยการประชุมร่วมระหว่างสภามหาวิทยาลัยและคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง Meeting the Challenges of 2021: Going Beyond the Cocoon of KKU Campus ต่อมาบรรยายเรื่อง พัฒนาการและแนวโน้มของวิกฤตการณ์ COVID – 19 และบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการช่วยเหลือสังคม,ส่วน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายการใช้ข้อมูล (Tech-based และ Human-based) สำหรับการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนการบรรยายด้านความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัยในการช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต โดย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในระดับชาติ ให้ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อสถานศึกษาและชีวิตประจำวันของประชาชนทั้งในภาครัฐและเอกชน และได้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการช่วยเหลือนักศึกษา บุคลากร ในภาวะวิกฤตดังกล่าว ตลอดจนแสวงหาโอกาสเพื่อช่วยเหลือ พัฒนา แก้ไขปัญหาของสังคมในภาวะต่างๆ ในอนาคต
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยฯ มีความประสงค์จะร่วมมือกับคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยอย่างโปร่งใส โดยต้องดำเนินการจัดประชุมเช่นนี้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อสนองจุดประสงค์ ขับเคลื่อนการบริหารการศึกษา ทั้งในระดับบุคคล จนถึงระดับเศรษฐกิจ โดยหัวข้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยถือเป็นสิ่งที่สามารถกำหนดกฎระเบียบ แนวทางในการดำเนินชีวิต แนวทางการบริหารงาน อันมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อทุกคน
“เทคโนโลยีจะสร้างความจริงมากขึ้น จนกระทั่งความสำคัญของความเชื่อลดลง เราต้องมีหน้าที่ในการสร้างความจริง เพื่อไม่ให้หลงไปกับความเชื่อ ด้วยสถานการณ์แบบนี้การดูแลตนเองก็มีความสำคัญ เพราะปัจจุบันมีความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ Health Tech (เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ) จึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงของสุขภาพ ซึ่งความเดือดร้อนของคนไทยก็มีความแตกต่างกันมาก ทั้งความต่างทางอาชีพ รายได้ ต่างชนชั้น มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งการใช้ Health Tech เป็นการแทนวิธีทำงานเดิมให้กลายเป็นรูปแบบใหม่ วิธีการที่ดีที่สุดคือการสร้างชุดข้อมูลขึ้นมาใหม่ ต้องมีความแม่นยำ ชัดเจน Real-time เชื่อว่า data analysis (การวิเคราะห์ข้อมูล) จะช่วยให้โครงการของภาครัฐสามารถตอบสนองการแก้ปัญหาและความต้องการของชุมชนได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งโครงการและมาตรการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองด้วย โดยขึ้นอยู่กับการศึกษา วิเคราะห์ และวิจัย ที่สำคัญต้องเป็นโครงการมาตรการที่ช่วยประชาชน อยากให้สิ่งที่ทำช่วยชาวบ้าน และช่วยตำบลได้อย่างแท้จริง นักวิจัยสามารถเอาข้อมูลเหล่านั้นมีเขียนรายงานวิจัยได้ เพื่อให้ประชาชนได้รักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ และสร้างความเป็นปึกแผ่นของสังคม เพื่อผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ ไปด้วยกัน” นายกสภามหาวิทยาลัย กล่าว
ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อธิบายถึงสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ว่ามีแนวโน้มว่าสำหรับการระบาดที่อาจลดลง เนื่องจากทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อให้สามารถใช้ได้ผลจริง ซึ่งวัคซีนได้รับการนำเข้าของประเทศไทยต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย และสามารถจัดเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้เผยถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ทั้งการบริการแก่ชุมชน โดยโรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นหน่วยคัดกรองผู้ป่วยและให้บริการด่านหน้า มีมาตรการสำหรับการดูแลนักศึกษา อาทิ การจัดสรรเงินทุนการศึกษา การสนับสนุนการเรียนออนไลน์ เพิ่มอัตราการจ้างงาน เปิดโอกาสผ่อนชำระค่าธรรมเนียม เป็นต้น ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการติดตามผลการรักษา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดมากยิ่งขึ้น เช่น Telehealth การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการแพทย์ผ่านระบบโทรคมนาคม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือสถานรักษาพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเป็นการติดตามผลการรักษาอีกวิธีหนึ่ง โดยสามารถติดตามผลและทำการรักษาที่บ้านได้ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว
ส่วน ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้อธิบายถึงสาระสำคัญของการนำชุดข้อมูลของชุมชนมาประกอบสร้างให้กลายเป็นฐานข้อมูลใหญ่ (Big Data) ภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ โดยเน้นการพัฒนาระบบที่มีความเชื่อมโยงและสามารถวิเคราะห์ได้ เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาชุมชนด้วยนวัตกรรมเชิงพื้นที่อย่างเหมาะสม การยกระดับการพัฒนาชุมชนสามารถเกิดความร่วมมือได้จากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องการข้อมูลส่วนนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดเผยว่า “บทบาทของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัย สามารถการตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตหลายด้าน ทั้งในทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และด้านการพัฒนาคนในช่วงสถานการณ์เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สามารถดำเนินการได้เนื่องด้วยความพร้อมของทางกระทรวงฯ และมหาวิทยาลัย ในส่วนของกำลังคน องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ทรัพยากรอื่น ๆ และเครือข่ายที่มีความครอบคลุม ทั้งจากสถานการณ์ยังได้ดำเนินโครงการในการจ้างงานใน 2 ระยะ สิ่งนี้ซึ่งได้นำมาต่อยอดโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ดำเนินการจ้างงานนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ประชาชนในพื้นที่ 20 อัตรา ดำเนินการกว่า 3,000 ตำบลทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดความยากจนโดยมีเป้าหมายหลักคือการลดความยากจนแบบมีเป้าหมาย ในแต่ละตำบลต้องมีการจ้างงาน 20 อัตรา ทั้งการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ประชาชนในพื้นที่ และนักศึกษา โดยสิ่งนี้สามารถตอบโจทย์และสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนภายในชุมชนได้.