น้อมเกล้าฯถวายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ

สำนักข่าว: แนวหน้า

URL: https://www.naewna.com/local/546583

วันที่เผยแพร่: 20 ม.ค. 2564

กรมการข้าวถวายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี จากแปลงนาสาธิตโครงการทหารพันธุ์ดีกรมพลาธิการทหารบก จ.นครราชสีมา แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาและศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา ร่วมกิจกรรมพัฒนาพื้นที่แปลงนาสาธิตตามโครงการพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในโครงการทหารพันธุ์ดี กรมพลาธิการทหารบก ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแปลงทดลองผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสำหรับการปลูกเพื่อการบริโภคต่อไป

นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการทหารพันธุ์ดี กรมพลาธิการทหารบก ตำบลจันทึก อำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา และกรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้เข้าดูแลดำเนินการทดลองปลูกข้าวเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีในฤดูกาลผลิต 2562/63ได้ดำเนินการปลูกข้าว 3 แปลงแปลงละ 1 งาน จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กข83 (มะลิดำหนองคาย 62)ได้ผลผลิต 200 กิโลกรัม (ผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัมต่อไร่)พันธุ์กข69 (ทับทิมชุมแพ) ได้ผลผลิต 210 กิโลกรัม (ผลผลิตเฉลี่ย 840 กิโลกรัมต่อไร่) และข้าวไร่หอมดง ได้ผลผลิต 150 กิโลกรัม (ผลผลิตเฉลี่ย 600 กิโลกรัมต่อไร่) กรมการข้าวจึงขอพระราชทานพระราชานุญาตน้อมเกล้าฯถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัยต่อไป

รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดนี้กรมการข้าวนำไปวิเคราะห์คุณภาพในห้องปฏิบัติการ ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ผลการวิเคราะห์สรุปว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว สามารถนำไปขยายผลส่งเสริมปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อการบริโภคต่อไปได้ สำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำมาทดลองปลูกเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีนี้ กรมการข้าวได้พิจารณาถึงความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่โดยแต่ละพันธุ์มีลักษณะเด่น ดังนี้

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 83 (มะลิดำหนองคาย 62) เป็นพันธุ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เป็นข้าวเจ้าดำเพื่อสุขภาพที่มีความหอม มีเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวกล้องสีม่วงดำ ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 542 กิโลกรัมต่อไร่ ศักยภาพในการให้ผลผลิต 864 กิโลกรัมต่อไร่ ทรงกอตั้ง ความสูง 112 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง รวงยาว 28.9 เซนติเมตร ลักษณะรวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 117 เมล็ด น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 26.0 กรัม เปลือกสีดำ จัดเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาว รูปร่างเรียว (อัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง 3.26)ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 50.8 ปริมาณอมิโลสต่ำร้อยละ 15.3

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข69 (ทับทิมชุมแพ)เป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ไม่ไวต่อช่วงแสง ทรงต้นเตี้ย คุณภาพเมล็ดและคุณภาพการหุงต้มรับประทานดี ข้าวกล้องหุงสุกนุ่มและมีรสชาติดี มีปริมาณ
สารต้านอนุมูลอิสระฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์สูง และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง งานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่าสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะเบาหวานหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และมะเร็งท่อน้ำดีรวมถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลและภาวะความจำเสื่อม กรมการข้าวได้มีมติรับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559สำหรับข้าวพันธุ์นี้ปลูกได้ดีในทุกภูมิภาค และก่อนที่จะได้รับการประกาศรับรองพันธุ์นั้น เป็นข้าวที่เข้าโครงการข้าวโภชนาการสูงและโครงการข้าวเพื่อตลาดเฉพาะ โดยสนับสนุนชาวนาในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ หลายแห่งนำร่องในการปลูกและการตลาดในปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันมีการผลิต การตลาดอย่างเป็นระบบครบวงจรโดยเครือข่ายชาวนาในทุกภูมิภาค มีการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าอยู่เสมอ อีกทั้งมีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งขายในตลาดต่างประเทศ

ข้าวไร่หอมดง เป็นข้าวพื้นเมืองของชาวญัฮกุร (อ่านว่า ญะ-กรุ้น) ซึ่งเป็นคนที่อาศัยบนที่สูงตามไหล่เขาหรือเนินเขาเตี้ยๆ แถบเทือกเขาพังเหย ในป่าดงจึงเรียกชื่อว่า ข้าวหอมดง เป็นข้าวไร่ที่มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีความนิ่ม มีกลิ่นหอม เหมาะกับการปลูกในสภาพไร่ กรมการข้าวโดยศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ได้ปลูกศึกษาตามโครงการคัดสายพันธุ์บริสุทธิ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น ผลการศึกษาพบว่า ข้าวหอมดงนี้นิยมปลูกในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเพชรบูรณ์ เกษตรกรปลูกข้าวโดยใช้แรงงานคนในการหยอด หรือหว่าน ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 15-25 กิโลกรัมต่อไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 350 -450 กิโลกรัมต่อไร่ส่วนใหญ่ปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือน และแลกเปลี่ยนกันในหมู่บ้าน จะนำออกจำหน่ายในตลาดชุมชนค่อนข้างน้อยเพราะมีปริมาณไม่เพียงพอ

Scroll to Top