มข.โอ่!ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดมากที่สุดในประเทศไทย

สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL: https://www.banmuang.co.th/news/region/217256
วันที่เผยแพร่: 25 ธ.ค. 2563

มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัด การประชุมโครงการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของไทยสู่เศรษฐกิจและการค้ายุคใหม่ประเด็นสินค้าโปรตีนทางเลือก (โปรตีนจากจิ้งหรีด)เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนแห่งอนาคต

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ที่ห้องประชุมกาลพฤกษ์ 7 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานจัดการประชุม โครงการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของไทยสู่เศรษฐกิจและการค้ายุคใหม่ประเด็นสินค้าโปรตีนทางเลือก (โปรตีนจากจิ้งหรีด) โดยมีสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือพร้อมด้วย คณะผู้แทนจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) นำโดยน.ส.อรนุช  วรรณภิญโญ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ นอกจากนี้ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมี ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา  รศ. รังสรรค์  เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือฯ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ให้ความสำคัญกับจิ้งหรีดเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนแห่งอนาคตโดยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันการศึกษาลำดับต้นๆ ของประเทศที่ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจิ้งหรีดมาหลายปี แรกเริ่มต้นจาก ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และคณาจารย์อีกหลายท่าน ที่มิได้เอยนามได้ทำวิจัยเกี่ยวกับจิ้งหรีดซึ่งเป็นที่ยอมรับกับนานาประเทศ ล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) และสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดทำ

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวอีกว่าโครงการการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งผลการดำเนินโครงการสามารถส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ GAP จำนวน 21 ฟาร์ม มากที่สุดในประเทศไทย จาก 44 ฟาร์มทั้งประเทศ
ด้านนายอนุวรรตน์  ศรีสวัสดิ์  หัวหน้าทีมพื้นที่โครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย  ได้นำเสนอ การดำเนินโครงการ ต่อผู้เข้าร่วมประประชุม ในประเด็นที่น่าสนใจว่า ภาพรวมของสภาวการณ์ตลาดโลกของแมลงกินได้ สามารถเติบโตได้ถึง 26.5% ในปี ค.ศ. 2020 จะมีมูลค่าถึง 3.42 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีการส่งออกแมลงกินได้ มากถึง 2161 ล้านบาท และ ส่งไปขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1  กลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยมีทั้งหมด 171 กลุ่ม จังหวัดขอนแก่น มี 14 กลุ่ม โดยจังหวัดขอนแก่นมีฟาร์มจิ้งหรีดที่ได้รับมาตรฐาน GAP 23 ฟาร์ม จากจำนวนทั้งประเทศ 44 ฟาร์ม

โดยการช่วยเหลือจากสถาบนวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือฯ กลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่เข้าร่วมเครือข่ายการทำงานกับสถาบัน และมีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น อำเภอภูเวียง กลุ่มจิ้งหรีดบ้านโนนสวรรค์ หมู่ 5 กลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีด หมู่ 4 อำเภอชุมแพ วิสาหกิจชุมชนคนค้นแมลง วิสาหกิจชุมชนการเลี้ยงแมลง เศรษฐกิจบ้านโนนลาน ตำบลโนนสะอาด อำเภอชนบท กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านท่าข่อย กลุ่มจิ้งหรีดบ้านโนนแสนสุข อำเภอน้ำพอง กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ กลุ่มผู้เลี้ยงและแปรรูปจิ้งหรีดออนซอนบ้านโนนเชือก กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดหมู่ที่ 13,9 ตำบลบัวเงิน อำเภอเมือง กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านนาเพียง ตำบลสำราญ กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านโคกท่า ตำบลหนองตูม อำเภอพระยืน กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านหนองโพธิ์ หมู่ที่ 8 กลุ่มผู้เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจบ้านหัน  อำเภอพล ผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและสะดิ้งบ้านคูขาด หมู่ 12 จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด วิสาหกิจชุมชนแมงสะดิ้งจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี
ส่วน รศ.รังสรรค์  เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมว่า นอกจากการลงไปช่วยเกษตรในพื้นที่แล้ว สถาบันยังได้สนับสนุนารออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากจิ้งหรีด ทั้งรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพ ขนม ออกมาเกือบ 12 ประเภท โดยนักศึกษา MBA มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำการจับคู่ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ แต่ต้องยอมรับว่าเกษตรกรยังมีปัญหาในการดำเนินการทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยระเบียบข้อบังคับของทางราชการ และ การที่ตัวเกษตรเองไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาฟาร์มให้ได้ตามมาตรฐาน GAP เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง

อย่างไรก็ตาม นับเป็นโอกาสอันดี ที่วันนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการเชื่อมโยงเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมของไทย เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางของประเทศผู้ผลิตสินค้าโปรตีนทางเลือกจากจิ้งหรีด โดยที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากการประชุมในวันนี้จะได้มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมต่อไป  สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือฯ  สามารถติดต่อ โทร : 0 4320 2167 อีเมล์ : kkusuccess@gmail.com

Scroll to Top