สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL: https://www.banmuang.co.th/news/social/214731
วันที่เผยแพร่: 4 ธ.ค. 2563
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) มอบหมายให้เครือข่ายภาคการศึกษาไมซ์ (MICE Academic Cluster) ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจตามมาตรฐานการติดตาม ควบคุม กำกับ และประเมินผลด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับนักเดินทางต่างชาติเพื่อป้องกัน COVID-19 ยกระดับศักยภาพการบริการด้านการจัดการเดินทางในรูปแบบใหม่ ของ Destination Management Company – DMC และบุคลากรด้านการบริการลูกค้าชาวต่างชาติ International Visitor Assistant – IVA เพื่อรองรับนักธุรกิจชาวต่างชาติในอนาคต
อาจารย์ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะที่ได้รับนโยบายจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เป็นผู้บริหารการจัดการอบรมในครั้งนี้ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า “กิจกรรมโครงการนี้ มุ่งเน้นอบรมให้เกิดองค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านต่าง ๆ ดังนี้ ๑. มีความรู้ ความเข้าใจ การคัดกรองผู้ติดเชื้อและทักษะด้านสาธารณสุขเบื้องต้น ๒. มีความรอบรู้และทักษะการบริการ การเป็นเจ้าบ้านที่ดี และการประสานงาน ๓. มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ (English for Specific Purpose: ESP) เพื่อการสื่อสารและเจรจาต่อรองกับคณะ/ผู้ไม่มีสัญชาติไทยตลอดการเดินทางในประเทศไทยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม ๔. มีความรู้ ความเข้าใจระบบการเข้าเมือง และการจัดการข้อมูลของผู้เดินทางจากต่างประเทศ และ ๕. มีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เคารพความหลากหลายและยอมรับในความแตกต่าง รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่เปิดเผยความลับของผู้ถูกคุมไว้สังเกตจากต่างประเทศให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับทราบ โดยมุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้สู่ Destination Management Company – DMC และบุคลากรด้านการบริการลูกค้าชาวต่างชาติ International Visitor Assistant – IVA กว่า ๑๕๐ ท่าน กำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมแซฟไฟร์ ๒๐๔-๒๐๕ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตามคำสั่ง ศบค ข้อตกลงความร่วมมือช่องทางพิเศษ (Special Arrangement) เพื่ออนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเดินทางเข้ามา ในราชอาณาจักร คือ มาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ตามข้อตกลงพิเศษกับต่างประเทศ (ยกเว้นการกักตัว ๑๔ วัน) ซึ่งกำหนดขึ้นตามข้อ ๑ (๑๑) ของข้อกำหนดออก ตามความในมาตรา ๙ ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๘ ฉบับที่ ๑๒ (“ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) กับต่างประเทศ”) และข้อ (๑๑.๒) ของตารางแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ที่ ๘/๒๕๖๓ ซึ่งระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ของการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของคนต่างชาติที่ได้รับอนุญาต ให้เข้ามาในระยะสั้น โดยกำหนดโควตาจำนวนผู้เดินทาง และมาตรการที่ผู้เดินทางต้องปฏิบัติตามทั้งก่อนการเดินทางและระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร ซึ่ง สสปน ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงต่างประเทศ นำเสนอขั้นตอนการอนุญาตเข้าประเทศ โดยต้องมีผู้ติดตามทางการแพทย์สาธารณสุข และบริษัทที่ดูแลบริหารการเดินทาง (DMC- Destination Management Company) ให้บริการบริหารจัดแผนการเดินทาง สำหรับนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาในระยะสั้นแบบไม่กักตัวนี้ ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทางและหลังการเดินทางกลับประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างมาตรฐานการบริการด้านความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย เรียนรู้เรื่องโรคโควิดและการป้องกัน และผนวกกับต้องให้บริการไม่ให้เสียชื่อในฐานะเจ้าบ้านที่ดี และมีการบริการที่ได้มาตรฐาน beyond expectation ตามแบบ Thai hospitality ที่มีชื่อเสียง และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างงานให้บริษัทที่ให้บริการต่างๆ และเจ้าหน้าที่ไกด์ ได้ยกระดับความสามารถ คือ Re-skill ตามนโยบายของภาครัฐ เตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ เป็นประธานเปิดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งท่านได้กล่าวย้ำเพิ่มเติมปิดท้ายว่า “การติดเชื้อภายในประเทศตลอดเวลาสองเดือนที่ผ่านมาพร้อมยืนยันว่าประเทศไทยมีระบบการติดตามตัวและการสืบสวนโรคที่ดีจนนำไปสู่การตรวจหาโรคในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงได้ทันเวลาและสามารถควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้นำความรู้ เทคนิค และประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ ไปใช้ในการปฏิบัติจริงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขอสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางกลุ่มไมซ์ ปลอดภัยไร้โรค ในอนาคตอันใกล้นี้