สำนักข่าว: ประชาชาติธุรกิจ
URL: https://www.prachachat.net/local-economy/news-543309
วันที่เผยแพร่: 23 ต.ค. 2563
ขอนแก่นพัฒนาเมืองเจรจา “กลุ่มไทยยูเนียนกรุ๊ป” ผู้ส่งออกอาหารทะเลระดับโลก ลุยทำ “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” ในขอนแก่น พร้อมผนึกบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศอีกหลายกลุ่มเดินเครื่อง โครงการ Smart City พร้อมเผยความคืบหน้าโครงการขนส่งรางเบา LRT ทุนใหญ่จีนเจรจาจบแล้ว แต่ติดช่วงโควิด-19 ทำดีเลย์ไป 1 ปี
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้บริหารบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นโชคดีได้รับผล กระทบจากโควิด-19 เพียง 30% ส่วนธุรกิจอีกประมาณ 60% ยังขับเคลื่อนไปต่อได้ ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไม่ซบเซา ด้านการลงทุนยังมีทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนโครงการเมืองอัจฉริยะ (smart city) ภายในจังหวัด กลุ่มทุนเบญจจินดาลงทุนเรื่องคลัสเตอร์เทคโนโลยี กลุ่มมิตรผลลงทุนซื้อตึกฟื้นฟูเมือง และกลุ่มบ้านปูมาทำเรื่องพลังงาน เป็นต้น ส่วนตัวชูโรงอย่างโครงการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT เป็นทุนใหญ่จากต่างประเทศ ซึ่งเจรจากันจบแล้วไม่มีปัญหาอะไร แต่ติดขัดช่วงโควิด-19 อยู่จึงน่าจะดีเลย์ไป 1 ปี
“เรื่องการลงทุนของจังหวัดขอนแก่น เราไม่มีปัญหาทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะเรามีแผนยุทธศาสตร์ชัดเจนที่ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งต้องผ่าน ครม. เราไม่ได้ตำข้าวสารกรอกหม้อ หรือพูดกันลอย ๆ ทำให้กลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ในเรื่องการลงทุน
อย่างล่าสุดได้มีการพูดคุยกับทางบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู มาร่วมมือกันด้านเกษตร ทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง (smart farming) และกลุ่มบ้านปู โดยบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ได้มาลงนามทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองขอนแก่น ที่จะมาช่วยผลักดันเรื่องพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับภาคธุรกิจตามแผนสมาร์ทซิตี้ของจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563”
“สุรเดช” บอกว่า เศรษฐกิจของขอนแก่นพึ่งพาอุปสงค์ภายในเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้มีแผนเศรษฐกิจที่ชัดเจน แล้วยังพร้อมทั้งเรื่องคน เรื่องการศึกษา 1 ใน 4 ระบบเศรษฐกิจถูกหล่อเลี้ยงด้วยการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ รวม 6 มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนอย่างขอนแก่นแหอวน ทำแหอวนส่งออกระดับโลก ได้รับออร์เดอร์เต็มอัตรา ขณะที่คู่แข่งติดโควิดอยู่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจภายในจังหวัดไว้ได้ ฉะนั้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจะมีเพียงธุรกิจการบิน
สำหรับปี 2563 โครงการเด่นที่คนขอนแก่นจะได้เห็น คือ การพัฒนาพื้นที่เมืองศรีจันทร์ ที่ทางกลุ่มมิตรผลกับทางเทศบาลนครขอนแก่นร่วมกันผลักดัน โดยการปรับปรุงห้องแถวเก่าให้เป็นหอพัก ให้เด็กรุ่นใหม่สามารถเข้ามาเช่าเริ่มต้นทำธุรกิจได้ในราคาถูก สามารถสร้างสตาร์ตอัพ และในปี 2564 ปีหน้าก็จะมีหลายโครงการที่กำลังดำเนินงานอยู่จะเสร็จสิ้น และภายใน 4-5 ปีนับจากนี้
ขอนแก่นจะกลับมาฟื้นตัวและแข็งแรงมาก ด้วยทางผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้วางแผนทำสมาร์ทซิตี้เฉพาะในตัวเมืองให้ทันสมัยเพียงอย่างเดียว แต่ในเฟส 2-3 จะกระจายตัวออกไปยังอำเภออื่นด้วย ให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
ด้านนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น บอกว่า หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายจนถึงขณะนี้ ภาพรวมของจังหวัดขอนแก่นที่เคยคึกคักสุดขีดกลับมาฟื้นตัวยังไม่ถึง 50% แต่ค่อย ๆ ดีขึ้นเพราะความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่กำลังเร่งรัดโครงการต่าง ๆ อย่างเต็มกำลัง และคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 ปี โดยหลายโครงการของจังหวัดขอนแก่นได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากส่วนกลางอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ โครงการ LRT ที่ทาง 5 เทศบาลผลักดันเดินมาจนเหลือเพียงเรื่องที่ดินอย่างเดียว ซึ่งได้มีการพูดคุยและรูปแบบการขอใช้ที่ดินเพื่อทำการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน TOD แล้ว ในส่วนโครงการอื่นอย่างการผลักดันให้ขอนแก่นเป็นศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยานขนาดเล็ก-กลาง ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนของสภาพัฒน์แล้ว
และโครงการฟื้นฟูเมืองเก่าที่ซบเซา “ย่านสร้างสรรค์ศรีจันทร์” ก็มีการเร่งรัดงบประมาณจากธนารักษ์ประมาณ 200 ล้านบาท นำร่องโดยนำที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดิมมาพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางด้านการเงิน และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (creative space) ซึ่งดำเนินการไปกว่า 80% แล้ว
“ธีระศักดิ์” บอกเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของแก่นอยู่ในช่วงกำลังฟื้นเมือง 1.ต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านสาธารณสุขเป็นอันดับแรก เพราะจังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองที่มีบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุดในภาคอีสาน มีศักยภาพ มีโรงพยาบาลรัฐที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.สนับสนุนพื้นฐานความร่วมมือในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จนได้ชื่อว่า “ขอนแก่นโมเดล” ซึ่งรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อพัฒนาเมืองอย่างเต็มกำลัง
3.ผลักดันโครงการที่กำลังเกิดขึ้นและโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการก่อสร้างเทอร์มินอลใหม่สนามบินนานาชาติขอนแก่น ที่จะแล้วเสร็จในปี 2563 นี้ พร้อมปรับปรุงเทอร์มินอลเดิมในปี 2564 และจะกลายมาเป็นพื้นที่รองรับผู้โดยสารมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 5 ล้านคน/ปี
“ตอนนี้นักลงทุนตื่นตัวมาก แต่มีความแตกต่างในอดีตที่นักธุรกิจรุ่นเตี่ยคุยกัน รู้จักกัน ทำงานร่วมกัน ปัจจุบันเป็นรุ่นเสี่ยต่างคนต่างโต มาวันนี้เราก็พยายามรวมพลคนรุ่นใหม่ให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด เทศบาลเองก็พร้อมสนับสนุน หากมีการตกผลึกทางความคิดด้วยรูปแบบชัดเจน เมื่อสามารถทำให้กระบวนการทำงานสมบูรณ์ เราพร้อมจะดำเนินการ และหากมีแนวทางการชัดเจนจะเป็นตัวที่ปลุกเมืองได้”