สำนักข่าว: ไทยรัฐออนไลน์
URL: https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1921361
วันที่เผยแพร่: 31 ส.ค. 2563
มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงผลงานวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ “แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน” พัฒนาต่อยอดจากแบบที่ใช้ป้องกันกระสุนปืนสั้น จนสามารถรับแรงกระสุนปืน M16 ได้ น้ำหนักเบาสุด 1.6 กิโลกรัม คุณสมบัติสุดเจ๋ง “เบา ถูก คุ้ม”
ทั้งนี้ เสื้อเกราะนี้ นอกจากน้ำหนักเบาแล้วแผ่นรังไหมยังสามารถหยุดจับกระสุน ไม่ให้เกิดการแฉลบเนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ และหากเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ดีกว่าเกราะอ่อนกันกระสุนที่ทำจากเคฟลาร์ ซึ่งพบว่าแผ่นรังไหมรับแรงมีราคาถูกกว่าและยังสามารถป้องกันอาวุธมีคม ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้
สำหรับการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.จะมีกระบวนผลิตที่แตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี แต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้วัสดุต่างๆ ยึดเกาะกัน ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.หรือกระสุนปืน M16 ได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น และแม้ว่าจะนำมาซ้อนกันถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. ก็สามารถทะลุได้ ต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงที่คิดค้นสำเร็จในวันนี้
ผศ.ดร. พนมกร กล่าวอีกว่า จากผลการวิจัยของ มข.ทำให้ขณะนี้มีแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นน้ำหนัก 0.9, 0.75 และ 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นน้ำหนัก 2 และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และผลงานวิจัยนี้ ได้ทำการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว