“มข.”ดัน!”จิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต”

สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL:https://www.banmuang.co.th/news/region/201360
วันที่เผยแพร่: 4 ส.ค. 2563

เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่โรงแรมโฆษะ อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยมี ข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ ภาคีเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ และภาคประชาชน ร่วมงานจำนวน 100 คน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ด้านตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลง โดยเน้นที่จิ้งหรีดเป็นสำคัญ แนวทางส่งเสริมการยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนจากแมลง ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการจัดประชุมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาซึ่งมุ่งเน้นแนวทางการยกระดับเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มปลอดภัย ถือเป็นการสร้างกระแสการรับรู้ประโยชน์ของจิ้งหรีดที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ให้เป็นแหล่งอาหารแห่งอนาคต

ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย  อธิการบดี มข. ประธานในพิธีกล่าวเปิดการประชุมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานครั้งที่ 2 ในวันนี้ และขอขอบคุณสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้จัดการประชุมวิชาการ และได้รับความสนใจจากผู้เข้าประชุมจำนวนมาก เป็นที่ทราบชัดเจนว่า อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลงเป็นอาหารแห่งอนาคตที่มีลู่ทางแจ่มใสในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและประชาชนในภาคอีสานมีความรู้ความชำนาญ คุ้นชิน นิยมบริโภคมานาน เป็นองค์ความรู้ของพื้นถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่ นับว่าเป็นโอกาสอย่างยิ่งที่จะยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืน หากสามารถบูรณาการกระบวนการทำงานทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และภาคปฏิบัติการในอุตสาหกรรมอาหารให้สนับสนุน สอดคล้องซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้

รศ.นพ.ชาญชัย  กล่าวอีกว่าดังนั้น การจัดประชุมวิชาการในวันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือเพื่อบูรณาการในประเด็นสำคัญดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีสนับสนุนในภารกิจและเชิญชวนนักวิชาการ ตลอดจนภาคราชการและภาคธุรกิจ สภาอุตสาหกรรม ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านเกษตรและอาหารตามนโยบายของรัฐบาล สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานปลอดภัย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฝ่ายเกษตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2562-2564 โดยใช้พื้นที่บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และบ้านฮ่องฮี ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่โครงการ

รศ.นพ.ชาญชัย  กล่าวด้วยว่าขณะนี้ได้สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ GAP จำนวน 21 ฟาร์ม เป็นจำนวนที่มากที่สุดในประเทศไทย และมีฟาร์มจิ้งหรีดพร้อมที่จะยื่นขอการรับรองเพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ฟาร์ม ส่วนบ้านฮ่องฮี ปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงฟาร์มเพื่อยื่นขอการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 11 ฟาร์ม ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนสามารถสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน มีโครงสร้างและระบบการบริหารที่เหมาะสม ภายใต้การประสานความร่วมมือจากส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและเอกชนในพื้นที่การจัดการประชุมวิชาการในวันนี้จึงมุ่งเน้นที่ด้านการตลาดเพื่อแสวงหากลไกในการขับเคลื่อนให้ครบห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงกลางน้ำ โดยมีตลาดและผู้บริโภคเป็นเป้าหมายสำคัญ

“เพื่อให้เกษตรกรในภาตะวันออกเฉียงเหนือได้ใช้โอกาสและศักยภาพของตน เรื่องจิ้งหรีดเป็นประเด็นที่สร้างความเข้มแข็งจากความถนัดและความสามารถของเกษตรกรเป็นสำคัญการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการค้า การตลาดระหว่างประเทศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ การบริหารจัดการฟาร์ม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มเกษตรกร และภาคเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตลอดจนนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา ที่จะมานำเสนอความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตการประชุมครั้งนี้”.รศ.นพ.ชาญชัยกล่าว

Scroll to Top