สำนักข่าว: RYT9
URL: https://www.ryt9.com/s/prg/3147874
วันที่เผยแพร่: 6 ส.ค. 2563
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เดินหน้าดึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มนิสิต/ นักศึกษา และกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน เข้าร่วมโครงการ DBD Boost UP Online # จับมือ จับเม้าส์ เข้าสู่ออนไลน์ ซึ่งเป็นโครงการประกวดสินค้าชุมชนออนไลน์รอบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (Thailand E-commerce Pitching Contest 2020) โดยงานได้จัดขึ้นไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมคนรุ่นใหม่หันมาทำการค้าขายผ่านออนไลน์ เพื่อให้ทันต่อโลก และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อของบนออนไลน์มากขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่ผ่านมาได้แบ่งเป็น 2 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 รอบคัดเลือก (คัดเลือกจากคลิป VDO Presentation และเอกสารนำเสนอผลงาน) และรอบที่ 2 รอบชิงชนะเลิศ (คัดเลือกจากการนำเสนอแผนธุรกิจด้วยตนเอง จำนวน 15 ทีม)
โดยทีมชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ทีมสลีปเปอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยผลิตภัณฑ์ คือ ปลานิลใส่อวน รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมฟีนอมีนอล จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยผลิตภัณฑ์ คือ กระเป๋าสานเฮเลน รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมโลคอล เลอค่า จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผลิตภัณฑ์ คือ ปลาส้มสายเดี่ยว
สำหรับทีมที่ชนะเลิศ ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก เพราะได้ทุ่มเทให้กับการแข่งขันในครั้งนี้มาก อีกทั้งยังคิดต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป เพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ และยังรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสินค้าชุมชนอีกทางหนึ่ง และขอขอบคุณกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมดีๆ นี้
นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราได้คัดเลือกน้อง ๆมานาน จนผ่านมาถึงรอบสุดท้าย ซึ่งมีการสมัคร คือผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือผู้ประกอบการชุมชน จะต้องร่วมกิจกรรมในลักษณะเป็นทีม แต่ละทีมมีสมาชิกจำนวน 5 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการรุ่นใหม่และผู้ประกอบการชุมชน พร้อมกันนี้ต้องนำสินค้ามาจากกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน เช่น กลุ่ม OTOP กลุ่ม Organic กลุ่ม Halal กลุ่ม GI กลุ่มสมาชิก Biz Club ของกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กลุ่มสหกรณ์การเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มยุวชนคนรุ่นใหม่ แต่ละทีมจะต้องส่งคลิป VDO Presentation แนวทางการพัฒนาสินค้าสู่ออนไลน์ ระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที ทีมละ 1 คลิป และแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดออนไลน์ (Concept Proposal) ความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 ที่สำคัญต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมนำความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ช่องทางออนไลน์มีความพร้อมที่จะเข้าอบรมกับทางโครงการตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งขั้นตอนการเข้าร่วมกิจกรรมทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมอบรมบ่มเพาะแบบ Offline และ Online ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยการเข้าร่วมกิจกรรมจะมีผลต่อการคัดเลือกสู่รอบชิงชนะเลิศ ”
ทั้งนี้ ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศ จะต้องเข้าร่วมกิจกรรม Workshop และนำเสนอแผนธุรกิจ ด้วยตนเอง เป็นระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ณ กรุงเทพมหานคร (ได้รับสนับสนุนค่าที่พักและค่าเดินทาง) สำหรับรางวัล รางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ พร้อมประกาศนียบัตร และเงินสดจำนวน 100,000 บาท จำนวน 1 รางวัล , รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ พร้อมประกาศนียบัตร และเงินสดจำนวน 50,000 บาท จำนวน 1 รางวัล , รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ พร้อมประกาศนียบัตร และเงินสดจำนวน 30,000 บาท จำนวน 1 รางวัล , รางวัลชมเชย ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ พร้อมประกาศนียบัตร จำนวน 12 รางวัล นอกจากนี้ยังมีรางวัลร้านค้า E-commerce ยอดนิยม ได้รับเงินสดจำนวน 10,000 บาท จำนวน 1 รางวัล และรางวัล Social Commerce ยอดนิยม ได้รับเงินสดจำนวน 10,000 บาท จำนวน 1 รางวัล
นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงอยากเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ให้เข้าร่วมโครงการดี ๆ นี้ในปีถัดไป และหวังว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีแบบในครั้งนี้