เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และ คณะเทคโนโลยี จัดพิธีปฐมนิเทศโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย มืออาชีพ” (Master Thai Chef Program) รุ่นที่ 1 โดยโครงการนี้มุ่งเน้นการสร้างแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมอาหาร มุ่งพัฒนาทักษะด้านอาหารไทยแก่นักศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ และสร้างเครือข่ายวิชาชีพเชฟที่มีคุณภาพและยั่งยืน
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการว่า “หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของสำนักบริการวิชาการ คือ การจัดทำหลักสูตรบูรณการศาสตร์ ซึ่งสำนักบริการวิชาการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการดูแลรับผิดชอบหลักสูตรสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร ที่มุ่งจะผลิตเชฟอาหารไทยเพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงาน ดั้งนั้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพด้านอาหารไทยเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการพัฒนากำลังคนคุณภาพสู่สังคม ซึ่งโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาบุคลากรด้านอาหารไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกด้วย” ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี กล่าวเสริมถึงความร่วมมือระหว่างคณะว่า “กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังระหว่างคณะบริหารธุรกิจและคณะเทคโนโลยีจะช่วยสร้างหลักสูตรที่ครอบคลุมทั้งด้านการประกอบอาหารและการจัดการธุรกิจ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นเชฟมืออาชีพในปัจจุบัน”
ในโอกาสนี้ ผศ.ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ประธานในพิธี ได้กล่าวเปิดงานและให้วิสัยทัศน์ว่า “โครงการนี้ไม่เพียงแต่สร้างเชฟมืออาชีพ แต่ยังเป็นการสร้างผู้ประกอบการด้านอาหารที่มีความรู้รอบด้าน พร้อมที่จะยกระดับมาตรฐานอาหารไทยและสร้างโอกาสทางธุรกิจในระดับสากลโดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอาหารไทยผ่านการบรรยายและการสาธิต รวมถึงมีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงในครัวที่มีอุปกรณ์ครบครัน การจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่ผสมผสานทั้งสองด้านนี้จะช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงและสามารถพัฒนาทักษะได้อย่างรอบด้าน พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นใจในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอาชีพในอนาคต “
ภายในงานยังมีการแนะนำระบบ OFOS Thai Food ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์เฉพาะทาง และการเตรียมความพร้อมสู่การฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำ โดยทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ นำโดย ดร.พงศ์พันธุ์ ศรัทธาทิพย์ ผู้รับผิดชอบโครงการ และ วิทยากรชั้นนำ เช่น เชฟธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ (เชฟจากัวร์) และเชฟเสาวกิจ ปรีเปรม (เชฟคิตตี้)
โครงการนี้จะดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 ผ่านการเรียนการสอนแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และภาคปฏิบัติ รวม 240 ชั่วโมง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 43 คน จากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร (KKUCAT) คณะเทคโนโลยี และ สาขาการโรงแรม คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ซึ่งจะได้เรียนรู้การประกอบอาหารไทยกว่า 50 เมนู จากทีมวิทยากรมืออาชีพ
โครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย มืออาชีพ” โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับอาหารไทยให้เป็น Soft Power ที่ทรงคุณค่า ทั้งในเชิงวัฒนธรรม โดยการพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้เข้าร่วม การอบรมให้เป็นเชฟอาหารไทยมืออาชีพ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ พร้อมทั้งสร้างรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/92457