รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร และรองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ฝ่ายบริการวิชาการ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน อภิปรายรายงานฯ เรื่อง การวิจัยศึกษาคุณลักษณะฝายแกนดินซีเมนต์ สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภาคตะวันเฉียงเหนือ ที่รัฐสภา กรุงเทพมหานครฯ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำเชิง ทั้งนี้ภารกิจบริการวิชาการถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของคณะวิศวกรรมศาสตร์สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการบริการวิชาการสู่สาธารณชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567
รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ (รองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ฝ่ายบริการวิชาการ) เผยถึง คุณลักษณะฝายแกนดินซีเมนต์ ว่าสามารถใช้ดินในบริเวณที่ทำการก่อสร้างฝายมาผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่หนึ่ง โดยใช้กราฟออกแบบ (แรงอัดกับร้อยละซีเมนต์) ที่ได้จากผลลัพธ์ของโครงการวิจัย (วช.) ซึ่งสามารถแบ่งดินออกเป็น A B C และ D ซึ่งจะทำให้ได้สัดส่วนของ ดิน:ซีเมนต์ และค่ากำลังของดินซีเมนต์ตรงและใกล้เคียงกับค่าที่ออกแบบไว้ หรือในส่วนนี้ตามหลักวิศวกรรมจะเรียกว่าเป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างฝายนั้นเอง
“ซึ่งเมื่อฝายแกนดินซีเมนต์ ใช้วัสดุ(ดิน) ในพื้นที่ผสมกับซีเมนต์ จะเรียกว่าดินซีเมนต์ จึงจะมีราคาถูก การก่อสร้างได้ง่าย และมีระยะเวลาการก่อสร้างที่เร็ว ทั้งนี้ฝายแกนดินซีเมนต์มีโครงสร้างเป็นดินซีเมนต์มีคุณสมบัติตามหลักวิศวกรรม (ตามคู่มือก่อสร้างฝายและรายเอียดตามเล่มรายงานวิจัย วช.) กัก ดัก ชะลอ น้ำ ทำให้เกษตรกรสามารถมีน้ำใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม 2-3 เดือนระหว่างรอฤดูฝนที่จะมาเติมน้ำในลำน้ำหรือแม่น้ำต่อไป ซึ่งจะมีความสำคัญต่อพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานเป็นอย่างมาก”
รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ ยังกล่าวต่ออีกว่า แกนดินซีเมนต์ของตัวฝาย จะมีความลึกเป็น 2 เท่าของความสูงของสันฝาย ข้อดีทางวิศวกรรมคือ ป้องกันการสไลด์และพลิกคว่าของฝาย และที่สำคัญเป็นการยืดทางเดินของน้ำใต้ฝาย ทำให้ดินบริเวณซ้ายขวาของฝายมีความชื้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแผ่กระจายของ “น้ำในดิน (Soil water)” ในด้านข้าง และทำให้มีปริมาณน้ำของบ่อน้ำตื้นเพิ่มขึ้นในพื้นที่ สามารถเป็นฝายที่ช่วยเก็บ กัก ชะลอน้ำ เพื่อใช้น้ำในหน้าแล้ง มีความแข็งแรง เกษตรกร และท้องถิ่นเข้าถึงได้ง่ายทั้งเรื่องเทคนิคการก่อสร้างที่ง่าย และงบประมาณที่ไม่สูงมาก
ฝายแกนดินซีเมนต์ สามารถ แก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน โดยเฉพาะในภาคอีสานได้เนื่องจาก คณะผู้วิจัย ได้ทำการศึกษาถึงความคุ้มค่าและความสามารถในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยนำรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน ในพื้นที่ฝายฯ มาทำการทดสอบแบบจำลองโดยพิจารณาปัจจัยในพื้นที่ ก่อนและหลังมีฝายฯ 6 ปัจจัยในด้านประชากรและภูมิศาสตร์ในพื้นที่ ผลปรากฎว่า สามารถจำแนกฝายที่สามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้ 5 กลุ่มด้วยกันคือ มากที่สุด มาก น้อย น้อยมาก และน้อยที่สุด (รายละเอียดรายงานวิจัย วช.) ซึ่งเราสามารถนำลักษณะของฝายที่ได้นี้นำไปเป็นเงื่อนไขกำหนดในการออกแบบสร้างฝาย และลักษณะของฝายเชิงพื้นที่ได้
โดยหากมองในมิติด้านกายภาพ ด้านสังคม และสภาพแวดล้อมของตำแหน่งฝาย จะเป็นตัวบอกกถึงประสิทธิภาพ (Efficiency) ของฝายแกนดินซีเมนต์ เช่น ปริมาณการกักเก็บ พื้นที่ได้รับประโยชน์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของฝายฯ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สามารถนำมาเป็นข้อมูล/ตัวอย่าง/ต้นแบบ สำหรับการวางแผนงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้
“โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำหน้าที่ให้คำแนะนำทางวิชาการเกษตรกร ได้แนะนำพื้นที่เกษตรในระดับท้องถิ่นและจังหวัด ได้นำองค์ความรู้งานวิจัยและรูปแบบการก่อสร้าง ร่วมกับคณะทำงานฝายฯ ผ่านผู้ว่าจังหวัดขอนแก่น และท้องถิ่นต่างๆ นำไปก่อสร้างในพื้นที่เขตจังหวัดโดยใช้งบประมาณของรัฐและ CSR และมีการขยายไปยังในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ มากกว่า 100 ตัว (ปัจจุบัน> 600ตัว) เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาภัยแล้ง ร่วมทั้งรับมือปรากฏการณ์เอลณีโญ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 นี้
◦ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย โดยนำผลงานการวิจัย (วช.) ไปเป็นเงื่อนไขและข้อกำหนดในแบบ เพื่อจัดทำเป็นแบบมาตรฐาน ให้กับท้องถิ่นและที่ผู้ที่สนใจ นำไปใช้งาน
โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นที่ปรึกษาและคณะทำงานคู่มือการจัดทำฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อเผยแพร่ หลักการทฤษฎี ขั้นตอนก่อสร้าง การขออนุญาต แบบก่อสร้าง การบำรุงรักษา การติดตาม และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลของคู่มือนี้ได้ใช้ข้อมูลจากผลลัพธ์ของโครงการวิจัย (วช) นำไปประกอบและอ้างอิง ซึ่งคู่มือนี้จะถูกนำไปขยายผลให้กับท้องถิ่นใช้งานต่อไป
รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร และรองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงความรู้สึกในฐานะเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน วุฒิสภา ว่ารู้สึกดีใจและเป็ฯเกียรติที่ได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลด้านวิชาการเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์ ในทุกมิติ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายประเทศ ต่อไป