หลังจากอ่านเรื่องราวในช่วงปี 2507 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขยับมาอีกยุคในปี 2514 มหาวิทยาลัยขอนแก่นปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ทั้งถนนหลายเส้น ต้นไม้หลายต้น บรรยากาศ อาคาร ห้องเรียน กิจกรรม และผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กองสื่อสารองค์กรชวนย้อนวันวานในรั้วสีอิฐ ผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.2 ที่ไม่เพียงแต่บอกเล่าความทรงจำ แต่ยังเป็นการเปิดหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจตลอด 60 ปีในมหาวิทยาลัยของพวกเรา
2514 รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ บัณฑิต มข. รุ่นที่ 8 คณะเกษตรศาสตร์
ปี 2514 เด็กบุรีรัมย์ที่ไม่อยากเป็นครูตามที่คนในครอบครัวคาดหวัง ตัดสินใจสอบเอนทรานซ์เข้าคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หอบกระเป๋าขึ้นรถไฟตัวคนเดียวจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าไปทำตามฝัน ความประทับใจในสถานศึกษาแห่งนี้เริ่มขึ้นทั้งที่ยังไม่ถึงมหาวิทยาลัย เพราะที่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา หนุ่มสาวหลายคนขึ้นมาบนรถไฟขบวนนั้นและเริ่มทักทาย ดูแล รุ่นน้องมอดินแดง ทำให้เส้นทางในวันนั้นไม่ได้โดดเดี่ยวและเงียบเหงาอย่างที่คิดแต่กลับอบอุ่นไปทั้งหัวใจ
หลังจากถึงขอนแก่นพี่ ๆ ก็มารอต้อนรับน้อง ๆ ให้เดินลอดขอนไม้ขอนแก่นหน้าสถานีรถไฟ ก่อนจะช่วยขนสัมภาระไปพักที่หอพร้อมกับเพื่อนนักศึกษาประมาณ 400 คน จาก 4 คณะ คือ คณะเกษตรศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะศึกษาศาสตร์ และเป็นปีแรกที่มีคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งนอกจากการเรียนที่เข้มข้นแล้ว กิจกรรมการเชียร์ก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน ทำให้การรู้จักกันทั้งรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน และรุ่นน้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
“สิ่งที่ประทับใจ คือ ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนบนรถสองแถวรุ่นพี่ก็จะจ่ายค่ารถให้น้องใหม่ (ที่ไปไหนก็ต้องแต่งตัวเรียบร้อย) มาโรงอาหารก็จะมีป้ายของรุ่นพี่ที่ติดไว้นัดตามหารุ่นน้องโรงเรียนมาทำความรู้จักและดูแลกัน ตอนนั้นจำได้ว่าสัดส่วนเด็กที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นค่อนข้างกระจายมาก มีทั้งจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพฯ พอ ๆ กัน ไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอีสาน ผมที่เรียนจบจากโรงเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ยังมีรุ่นพี่โรงเรียนคอยดูแลและดูแลรุ่นน้องต่อไปเรื่อย ๆ”
ไม่เพียงการเข้าเชียร์เท่านั้น แต่อีกกิจกรรมสำคัญที่ รศ.ดร.สุวิทย์ ยังจำได้ดี คือ การที่ชมรมนักศึกษาอีสานเพื่อการพัฒนาได้เดินทางไปจัดค่ายอาสาดูแลชุมชนช่วงปิดเทอม นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ในรุ่นก็เคยพากันออกไปบำเพ็ญประโยชน์วันหยุดเสมอ ทำให้ได้เรียนรู้การแบ่งปัน การทำงานเป็นทีม และการช่วยเหลือผู้อื่น พร้อมถ่ายทอดความตั้งใจนี้ส่งต่อให้น้อง ๆ ในรุ่นต่อ ๆ ไป เมื่อเริ่มต้นทำงานที่ มข. ก็ได้ช่วยน้อง ๆ ที่จัดตั้งชมรมอาสาพัฒนาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาคนแรก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2518 ก่อนหน้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่กี่เดือน เกิดเหตุการณ์องค์พระธาตุพนมล้มทลายลงมาเนื่องจากพายุฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันและความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม ด้วยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขง ประชาชนได้กันร่วมบริจาคทุนทรัพย์เพื่อก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ รศ.ดร.สุวิทย์ ก็ได้รับเกียรติเป็นตัวแทนบัณฑิตรุ่น 8 ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนบูรณะพระธาตุพนม
“วันที่รับพระราชทานปริญญาบัตรที่ศาลาเดิม พ่อแม่ผู้ปกครองที่เฝ้ามองอยู่ด้านนอกภูมิใจกับความสำเร็จเหล่าบัณฑิต นักศึกษาบางส่วนก็มีโอกาสได้รับเสด็จฯ และฟังพระราชดำรัสที่บริเวณสระว่ายน้ำหลังสโมสรอาจารย์ ที่พิเศษอีกอย่าง คือ เป็นปีแรกที่มีการนำผลผลิตจากไร่คณะเกษตรศาสตร์มาตกแต่งพลับพลาหน้าที่ประทับ ยังสวยงามอยู่ในความทรงจำเสมอมา ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สร้างคน สร้างประโยชน์เพื่อสังคมมาโดยตลอด”
เรื่อง : ผานิต ฆาตนาค
ภาพ : รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ และ หอจดหมายเหตุ มข.
อ่าน : เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.1
ติดตามเรื่องราวของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในมุมมองอื่น ๆ ยุคต่อไป เร็ว ๆ นี้