มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด หนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) พร้อมการพัฒนากำลังคนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดอย่างยั่งยืน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับ บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณอารยา อรุณานนท์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คุณจุฑาทิพย์ อรุณานนท์ชัย ดร. จุฑามาศ อรุณานนท์ชัย กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด ร่วมลงนาม พร้อมด้วยผู้บริหารจากบริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด และ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นสักขีพยาน
คุณอารยา อรุณานนท์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด ได้กล่าวถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนี้ว่า ในนามกลุ่มบริษัทน้ำตาลราชบุรี รู้สึกเป็นเกียรติ และมีความยินดีอย่างยิ่งในการร่วมลงนามใน พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ “การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)” ระหว่างบริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันนี้ กลุ่มบริษัท น้ำตาลราชบุรี ได้ดำเนินธุรกิจเพื่อการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลที่มีคุณภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำการศึกษา พัฒนา และปรับปรุงเทคโนโลยี การผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการเพิ่มศักยภาพของพนักงานในกลุ่มบริษัท น้ำตาลราชบุรี การพัฒนาบุคลากรทั้งด้านทักษะในการปฏิบัติงาน และทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มบริษัท น้ำตาลราชบุรี ได้มีการดำเนินโครงการร่วมกับบุคลากร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาและพัฒนากำลังคนระหว่างกลุ่มบริษัท น้ำตาลราชบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่นในอนาคต จึงเป็นที่มาของการลงนาม MOU ในวันนี้ โดยมี วัตถุประสงค์ เพื่อ 1) สร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาและพัฒนากำลังคน ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) เสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย การบริหารจัดการองค์ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตร การส่งเสริมการผลิตอ้อยอย่างแม่นยำ (Precision Sugar Cane Production) การวิจัยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต การบริหารจัดการระบบห่วงโซ่การผลิต และระบบโรงงานอุตสาหกรรม การวิจัยด้านการจัดการของเสียเป็นศูนย์ การจัดการ Carbon Neutral การลดก๊าซเรือนกระจก การวิจัยด้านการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยด้านการใช้ผลผลิตและผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล การวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น 3) พัฒนางานด้านอุตสาหกรรมเกษตรในท้องถิ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน และ 4) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green-economy) รวมถึงการแปรรูปชีวมวล (bio-refinery) โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นฐาน โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาและพัฒนากำลังคน 2) สนับสนุนนักศึกษาด้านการเสริมสร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ โดยเข้าปฏิบัติงานฝึกงาน และสหกิจศึกษา ณ กลุ่มบริษัทน้ำตาลราชบุรี 3) สนับสนุนด้านสถานที่และเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อดำเนินโครงการวิจัย ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นควรดำเนินการร่วมกัน 4)สนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยภายใต้ความร่วมมือตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ทั้งนี้ ในนามของกลุ่มบริษัทน้ำตาลราชบุรี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG นี้ จะสามารถพัฒนากำลังคน และเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย การบริหารจัดการองค์ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป
ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด ตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและบริษัทธุรกิจเอกชน ในด้านการศึกษา การพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการองค์ความรู้ การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่จะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เศรษฐกิจสีเขียว (green-economy) และการแปรรูปชีวมวล (biorefinery) โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดียิ่งในการให้ร่วมมือทางวิชาการ ดังนี้ 1) ร่วมมือในการจัดการศึกษาและพัฒนากำลังคน ได้แก่ การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร จัดฝึกอบรม การเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะด้านอ้อยและน้ำตาล ให้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยี และคณะวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาให้ไปฝึกงานและสหกิจศึกษา ณ บริษัทในกลุ่มโรงงานน้ำตาลราชบุรี 3) สนับสนุนงานด้านวิชาการและวิจัย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง 4) สนับสนุนด้านสถานที่และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักวิจัยสามารถทำการค้นคว้าในโครงการพิเศษได้ตามความเหมาะสม และ 5) ให้ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรของกลุ่มบริษัทโรงงานน้ำตาลราชบุรี เกษตรกร และบุคลากรของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)” ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนากำลังคนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อเพิ่มศักยภาพการในการแข่งขันของตลาดได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ จากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด ได้จัดให้มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)” ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนากำลังคนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อเพิ่มศักยภาพการในการแข่งขันของตลาดได้อย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ที่ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งไว้ต่อไปในอนาคต
ข้อมูล ภาพ : ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข