ศูนย์ CKDNET คณะแพทย์ มข. ร่วม ศูนย์นาโนเทค สวทช.ศึกษาความสัมพันธ์การปนเปื้อนของสารเคมีที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง

รู้หรือไม่ว่าคนไทย 100 คน มี 26 คนมักเป็นโรคไต นั้นหมายความว่าคนไทย 1,000,000 คน มักมีคนไข้ล้างไต 2,000 กว่าราย  สถิตินี้ทำให้ประเทศไทยไต่อันดับประเทศที่มีคนไข้โรคไตมากที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก

ภาวะโรคไตเรื้อรัง เป็นอาการโรคที่ดูเหมือนจะไม่ร้ายแรง แต่ความจริงแล้วพรากชีวิตประชากรโลกอย่างมหาศาล สูญเงินและบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาจำนวนไม่น้อยทั้งที่จริงสามารถยุติได้ที่ต้นเหตุ นั้นคือการบริโภค โดยสามารถรักษาหาย ประหยัดงบประมาณชาติ โดยการสุ่มตรวจจากกลุ่มเสี่ยง อาทิ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน กลุ่มคนที่ทานยาแก้ปวด(ยาชุด) หรือใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ


ทว่าก็ไม่สามารถหยุดยั้งสาเหตุการป่วยโรคไตได้ทั้งหมด เพราะงานวิจัยล่าสุดปี 2563 โดย สมาคมโรคไต (TRT) พบว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุทั้งที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สูงถึงร้อยละ 8.49  โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ CKDNET คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมกับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค สวทช.)   จัดสรุปผลการดำเนินงานโครงการสร้างความร่วมมือระดับพหุภาคีด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ และแนวทางแก้ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวรายงานโครงการ โดยมี นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเปิดงาน  พร้อมด้วย ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวต้อนรับ โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ศูนย์นาโนเทค ฯ ร่วมกับ CKDNET และหน่วยงานพันธมิตร มีนักวิจัย เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ผู้ใหญ่บ้าน  ร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้อง Board Room  อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม   2564 ที่ผ่านมา

โครงการความร่วมมือระดับพหุภาคีด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ และแนวทางแก้ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาคุณภาพน้ำ วิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำที่คาดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เหนี่ยวนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรัง  โดยนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และนาโนเทคฯ ที่ได้จากการดำเนินโครงการ ระดมนักวิชาการ วิจัย ชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อช่วยสร้างความตระหนักและเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนถึงปัจจัยเสี่ยงที่เหนี่ยวนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรัง รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาโดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอำเภออุบลรัตน์และอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งร่วมกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป

ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เผยว่า ที่ผ่านมา ศูนย์นาโนฯ ได้สนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนำชุดตรวจโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อตรวจหาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ดำเนินการในพื้นที่ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด เมื่อต้นปี 2563 ขยายผลมาเป็นโครงการระดับพหุภาคีด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ และแนวทางแก้ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ และอำเภอน้ำพอง เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และร่วมค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ทราบสาเหตุต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง ผ่านการพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) Flagship 63 นอกจากนี้แล้วนาโนเทคฯ ร่วมกับเนคเทค สวทช. คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ร่วมวิเคราะห์ปัญหาจากการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำ ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตและด้านสุขภาพความเป็นอยู่ของประชาชนต่อไป

          รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย หัวหน้าโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ CKDNET คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น    เผยว่า ประเทศไทยติดอันดับมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องล้างไตกว่า 2,000 ราย โดยโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ CKDNET ได้ดำเนินการแก้ไข รณรงค์ และป้องกัน ให้แก่ประชาชนมาตลอด เช่น การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากผู้ป่วยที่มีโรคความดัน โรคเบาหวาน ผู้ที่ทานยาแก้ปวดเป็นประจำ โดยมีดอนช้างโมเดลเป็นแบบอย่างที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เมื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงพบแล้วทำการรักษาได้ทันเวลา อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้าน อาทิ ลดหวาน มัน เค็ม ให้ลดอัตราเสี่ยงการเป็นโรคไตเรื้อรังได้อีกด้วย แต่ในปี 2563 ยังมีรายงานจากสมาคมโรคไตพบว่า 8.49 % ของประชากรที่ป่วยโรคไตโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นที่มาของ โครงการความร่วมมือกับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการนำนักวิจัย นักวิชาการขับเคลื่อนร่วมกับ ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 จังหวัดขอนแก่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ และอำเภอน้ำพอง เพื่อวิจัย วิเคราะห์หาสาเหตุ ความสัมพันธ์ และแนวทางแก้ปัญหา การปนเปื้อนของสารเคมีที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคไตเรื้อรังผลการวิจัยพบว่า    มีประชากรใน 2 หมู่บ้านพบอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรัง และผลการเก็บตัวอย่างตะกอนจากลำน้ำพอง ของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พบการปนเปื้อนของโลหะหรือโลหะหนัก อาทิ โครเมียม อาร์เซนิค(สารหนู) และ แคดเมียม เกินมาตรฐาน จากผลการวิจัยของทั้งสองศูนย์ดังกล่าวสอดคล้องกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะสถาบันการศึกษา วิจัย มีหน้าที่สนับสนุนนักวิจัย ดึงเอาศักยภาพของนักวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ในมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมมือกับ หน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนปกครองท้องถิ่น เสนอโครงการ ดำเนินโครงการ ขับเคลื่อนโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น  แก้ไขปัญหา สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพคนในประเทศ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความเชื่อมั่นมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ และเชื่อว่าองค์ความรู้ที่เรามีจะช่วยพัฒนาสร้างคุณภาพที่ดีร่วมกันทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางแก้ไข อาทิ การช่วยกันป้องกันสารพิษ มลภาวะในสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้ชาวบ้านระมัดระวังเมื่อใช้สารเคมีทางการเกษตร และกำจัดภาชนะที่บรรจุสารอย่างถูกวิธี  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และแนะนำวิธีการรักษาสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจัดหาแหล่งน้ำ หรือบำบัดน้ำให้เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภคในชุมชน ตลอดจนในแง่ของมาตรการควบคุมการรักษาหรือลดการใช้สารเคมีของโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งคัดกรองโรคไตเรื้อรังในกลุ่มคนที่เสี่ยง (จะพบผู้ป่วยระยะแรก) เพื่อรักษาได้ทันถ่วงที อีกทั้งประหยัดทรัพยากรทางการแพทย์และประหยัดงบประมาณในการรักษา เชื่อว่าองค์ความรู้ และการระดมความคิดเห็นนี้จะช่วยพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้ดียิ่งขึ้น

ข่าว/ภาพ : จิราพร ประทุมชัย

Scroll to Top