วช. หนุนนโยบายขับเคลื่อนโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ส่งเสริม-สนับสนุนการวิจัย รองรับการได้รับประโยชน์ของผู้สูงอายุในไทย

สำนักข่าว : ผู้จัดการออนไลน์

URL : https://mgronline.com/qol/detail/9640000030613

วันที่เผยแพร่ : 31 มีนาคม 2564

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ แถลงนโยบายขับเคลื่อนแนวทางในการวางยุทธศาสตร์“Quick Wins” โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ผนึกกำลังลงนามความร่วมมือ 9 หน่วยงาน เพื่อแสดงเจตจำนงในการร่วมขับเคลื่อนโครงการ เพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ให้สามารถเกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่รองรับการได้รับประโยชน์ของผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยมีการบูรณาการและร่วมมือกันขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน

 

วันนี้ (31 มี.ค.) ที่ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมความร่วมมือ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แถลงนโยบายขับเคลื่อนแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ Quick Wins โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” และเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือแสดงเจตจำนงในการร่วมขับเคลื่อนโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จังหวัดสงขลา จังหวัดขอนแก่น การเคหะแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการเสวนา “Platform ความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย : เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ประณีต ส่งวัฒนา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเสวนาและตอบข้อซักถาม ในประเด็นการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้บริหาร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานความร่วมมือ ผู้ร่วมเสวนา แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ประมาณ 180 คน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายภารกิจตามนโยบายสำคัญของ อว. ในยุทธศาสตร์ Quick Wins เรื่อง “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการเพื่อสร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยคนเกษียณหรือผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นและพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาครัฐและภาคเอกชน หรือความต้องการในการทำงานให้ได้มีโอกาสเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

“วช. ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ในการกำหนดให้มีแผนงานเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง เพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ให้สามารถเกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่รองรับการได้รับประโยชน์ของผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยมีการบูรณาการและร่วมมือกันขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จังหวัดสงขลา จังหวัดขอนแก่น การเคหะแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยสงขนานครินทร์” ดร.วิภารัตน์ กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การขับเคลื่อนโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ในปี 2564 จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะพร้อมทั้งสร้าง Platform โดยสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ในปี 2565 มุ่งเน้นการขยายผลให้ครอบคลุม โดยเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ เสริมทีมสร้างโอกาส เพิ่มความยั่งยืน โดยหน่วยงานขับเคลื่อน และติดตามประเมินผลภาพรวม และในปี 2566 เป็นการผลักดันให้เกิดผล โดยการเพิ่มทักษะอื่นๆ ในการพัฒนาให้เกิดศักยภาพ ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพใหม่สำหรับผู้สูงอายุ โดยการดำเนินงานมีกลไกขับเคลื่อน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” และการขับเคลื่อนจากหน่วยงานความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการร่วมขับเคลื่อน “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง”

Scroll to Top