“SMC” ผนึก “ไอเคคร๊าฟท์” เปิดตัวนวัตกรรม “AVA™ Anti-Viral Allergy Free”

สำนักข่าว : สยามรัฐ

URL :   https://siamrath.co.th/n/227766

 “SMC” ผนึก “ไอเคคร๊าฟท์” เปิดตัวนวัตกรรม “AVA™ Anti-Viral Allergy Free”

วันที่เผยแพร่ : 16 มีนาคม 2564

ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ (SMC) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนึกความร่วมมือครั้งสำคัญกับ “บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด” ลุยโครงการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์จาก “AVATM Anti-Viral Allergy Free” นวัตกรรมสิ่งทอต่อสู้โควิด-19 รองรับด้วยผลการวิจัยจากภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันทดสอบระดับนานาชาติภายใต้มาตรฐาน ISO 18184 จากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ยกระดับเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่นำนวัตกรรม AVATM มาใช้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอทุกชนิด เปิดตัวใช้ใน “ห้องผู้ป่วยพิเศษละมุนใจ ไกลโควิด” ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.64

 

ผศ.นพ.ชวกิจ ภูมิบุญชู รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์กลางบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า SMC หรือศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คือหนึ่งในผู้นำความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ในยุคดิจิทัล มาผนวกเข้ากับความชำนาญของทีมบุคลากร เพื่อสร้างผลลัพธ์ของการรักษาที่มีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์ เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 SMC ได้นำประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่มีมาเตรียมการรองรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมใหม่ จากการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สามารถหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 มาใช้ใน “ห้องผู้ป่วยพิเศษละมุนใจ ไกลโควิด”

 

“ห้องผู้ป่วยพิเศษละมุนใจ ไกลโควิด คือผลความสำเร็จจากโครงการวิจัยร่วมของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับบริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด ที่นำผลวิจัยไปพัฒนาเป็นเส้นใย ‘AVATM Anti-Viral Allergy Free’ และนำผลิตภัณฑ์สิ่งทอในห้องทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าพาดเตียง ผ้าห่ม ผ้าม่านหัตถการ ผ้าม่านหน้าต่าง ผ้าเช็ดมือ พรมเช็ดเท้า หรือแม้แต่ ชุดที่ผู้ป่วยสวมใส่ เปลี่ยนไปเป็นนวัตกรรมผ้าเส้นใยพิเศษชนิดนี้ ที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อโควิด-19 ซึ่งนับว่า SMC เป็นสถานพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่นำนวัตกรรมนี้มาใช้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอทุกชนิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ภายในศูนย์ฯ”

ด้าน ผศ.ดร. สุปราณี พันธุ์ธนวิบูลย์ นักวิจัย และอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่า นวัตกรรมเส้นใย AVATM Anti-Viral Allergy Free จะมีสารชนิดพิเศษที่เข้าไปจับเชื้อไวรัส โดยสารดังกล่าวจะทำหน้าที่กระเทาะเปลือกโปรตีนและไขมันที่ห่อหุ้มเชื้อไวรัสนั้น จนทำให้เชื้อถูกทำลาย และทำการแทรกแซงกระบวนการผลิตโปรตีนของไวรัสตัวใหม่ พร้อมทั้งยับยั้งการถอดรหัสสารพันธุกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสมีการเพิ่มจำนวน ซึ่งด้วยหลักการนี้จะทำให้เส้นใย AVA™ สามารถยับยั้งได้ทั้งโควิด-19 และไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อื่นๆ อาทิ เมอร์ส, ซาร์ส รวมไปถึง เชื้อรา,แบคทีเรียที่เป็นห่วงโซ่อาหารของไรฝุ่นที่เป็นต้นเหตุหลักของภูมิแพ้ได้อีกด้วย

 

โดยภาควิชาจุลชีววิทยา ดำเนินการทดสอบโครงการวิจัยนี้ โดยการนำผ้าชนิดเส้นใย AVATM ไปเพาะกับเชื้อไวรัสที่มีค่าความเข้มข้น และให้เชื้อฟักตัวที่ระยะเวลาต่างๆได้แก่ 15 นาที,30 นาที,1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง จากนั้นนำเชื้อไวรัสมาทดสอบเพื่อหาปริมาณไวรัสที่เหลืออยู่ เปรียบเทียบกับผ้าที่ไม่ใช่เส้นใย AVA™ “ผลคือผ้าที่มี AVATM จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด” อีกทั้งเส้นใย AVATM ยังได้รับผลการรับรองจากสถาบันทดสอบระดับนานาชาติภายใต้มาตรฐาน ISO 18184 กับ 3 สถาบัน ได้แก่ สถาบัน MSL ในประเทศอังกฤษ รับรองการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ถึง 91.7%,สถาบัน SGS ในประเทศฮ่องกง รับรองการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ถึง 99.17% และ สถาบัน Nelson Lab ในประเทศสหรัฐ รับรองการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ถึง 99.37%

 

ดร.กฤษณา สุขบุญญสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด (ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์) เผยว่า “ปัจจุบันนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์ คือหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการสูงขึ้นอย่างมากในยุคนี้ เนื่องจากผู้คนให้ความเชื่อมั่นกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อสุขอนามัยทางการแพทย์อย่างมาก การได้ร่วมพัฒนาเส้นใย AVATM Anti-Viral Allergy Free ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของบริษัท ไอเคคร๊าฟท์ ในการต่อยอดนำเส้นใยมาพัฒนาเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะกับสินค้ากลุ่ม Home textile อาทิ ถุงมือ,ถุงเท้า,กระเป๋า, ผ้าเช็ดตัว, ผ้าเช็ดเท้า,ผ้าจับประตู, หมอนอิง,ผ้าพันคอ, ผ้าคลุมไหล่, ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เพื่อสร้างความปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโควิด-19 แบคทีเรีย และฟังก์ชั่นการใช้งานในวิถี New Normal อย่างตรงจุด

 

สำหรับ “ห้องผู้ป่วยพิเศษละมุนใจ ไกลโควิด” ที่นำนวัตกรรมเส้นใย AVATM Anti-Viral Allergy Free มาใช้ในสถานพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย จะเริ่มเปิดใช้ที่ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ หรือ SMC ในห้องผู้ป่วยพิเศษ ชั้น 13,14 และ 15 ณ อาคารพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อนุสรณ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

Scroll to Top