สำนักข่าว : talknewsonline
URL : https://www.talknewsonline.com/333261/
วันที่เผยแพร่ : 10 มีนาคม 2564
ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้เกียรติต้อนรับ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมเปิดการประชุมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และคณะ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ได้นำเลขาธิการ กพฐ. เยี่ยมชมผลงานของคณาจารย์และนักศึกษา ตลอดจนชมการสาธิตนวัตกรรมการศึกษาที่เกิดจากผลงานวิจัย ของอาจารย์และนักศึกษา และพบปะพูดคุยกับนักศึกษาที่กำลังศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กว่า 200 คน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบวิชาชีพครูสู่ความสำเร็จในอนาคต
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า การเดินทางมามหาวิทยาลัขอนแก่น ในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหลักใน 2 เรื่องคือ หนึ่งมาในฐานะสื่อสารความร่วมมือระหว่าง สพฐ.กับสถาบันอุดมศึกษา ในการที่จะยกระดับคุณภาพผู้เรียนร่วมกัน เพราะการจะพัฒนาคุณภาพให้ประสบความสำเร็จได้ ลำพังจะอาศัยหน่วยใดหน่วยหนึ่งไม่มีทางสู่ความสำเร็จ นอกจากว่าทุกคนจะมาร่วมมือกัน ใครมีศักยภาพ มีความสามารถด้านใด ก็ต้องมาช่วยกัน เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กอนุบาลในวันนี้ก็คือต้นพันธุ์ที่จะมาต่อประถมศึกษา และจะเป็นต้นพันธุ์ที่จะไปต่อยังระดับมัธยม และจากมัธยม ก็จะไปต่อที่อุดมศึกษา ดังนั้น ถ้าเราสร้างต้นพันธุ์ไม่ดี เราก็อย่าหวังว่าจะได้คนดี คนเก่ง ในอนาคต เพราะฉนั้นมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งจะผลิตคนไปสู่ตลาด ถ้าหากฐานต้นพันธุ์ไม่ดีมาตั้งแต่อนุบาล ประถม และมัธยม มา ก็จะได้คนที่ไม่มีคุณภาพมาเช่นกัน เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ที่มีหน้าที่สร้างคนให้กับชาตินี้ ต้องมาผนึกกำลังกัน ในการที่จะช่วยกันผลิตคนดี คนเก่งในอนาคต โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ ซึ่งก็คือการออกแบบหลักสูตร นั่นเอง ประการที่สอง มาเพื่อมาร่วมมือกันในการแสวงหานวัตกรรม ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ทุกคนต่างก็บอกว่าสิ่งนั้นคือปัญหา สิ่งนี้คือปัญหา ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงจะต้องใช้นวัตกรรมอะไร แล้วใครจะร่วมกับใคร ถ้าทุกคนมาช่วยกัน ก็จะมาช่วยซ่อมในสิ่งที่บกพร่องเป็นปัญหาในปัจจุบัน จากนั้นมันก็จะกลายเป็นจุดแข็ง เพราะหากทำการศึกษาในวันนี้ จะส่งผลหรือเห็นผลของการศึกษาในอีก 20 ปี ข้างหน้า จึงจะเห็นผลของความสำเร็จ โดยเท่าที่ได้ดูนวัตกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นนำเสนอในวันนี้ ที่เห็นชัดเจน คือการผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในบางเรื่อง หรือเฉพาะเรื่อง เฉพาะประเด็น ค่อนข้างชัด เช่น การจัดสอนโค้ดดิ้งในระดับชั้นอนุบาล การสอนกระบวนการคิดในชั้นอนุบาลและชั้นประถม รวมไปถีงการสอนวิชาเคมี การสอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เด็กไม่ให้ความสนใจ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็มีนวัตกรรมในการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างดี หากจะให้เกิดประโยชน์ที่สูงสุดจริง ๆ ตนคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้นวัตกรรมเหล่านี้มาเป็นจิ๊กซอว์ต่อกันให้เป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 -6 จากนั้นมาวิเคราะห์ดูว่ายังมีปัญหาอะไรอยู่บ้างในแต่ละระดับชั้น รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเคยสร้างขึ้นมาทั้งหมด ว่าจะเอามาบูรณาการลงในจิ๊กซอว์ต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไรในระบบ เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนในแต่ละระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้ทั้งระบบ ก็สามารถที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้ ไปทดลองในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งของ สพฐ.ได้ทั้งแพ็คเก็จเลย ก็จะทำให้เห็นเป็นโมเดลในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งโรงเรียน โดยในช่วงเริ่มต้นอาจมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการในปีแรก ประมาณ 2 – 3 โรงเรียนก่อน และมีโครงการขยายผลเพิ่มขึ้นอีกในปีถัด ๆ ไป ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.กล่าวในที่สุด
ทางด้าน รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า จากแนวทางที่ท่าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.ได้กล่าวไว้ ทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหน่วยผลิตครูเพื่อออกไปรับใช้สังคม ตามความมุ่งหวังของหน่วยงานทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. ก็น้อมรับในแนวทางดังกล่าว ดังนั้นทางคณะศึกษาศาสตร์ จำเป็นที่จะต้องมีการวางเป้าหมายอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อแก้ปัญหาในระดับชั้นต่าง ๆ ตามแนวทางที่ท่านเลขาธิการ กพฐ.ได้กล่าวไว้ ซึ่งในขณะนี้ทางคณะศึกษาศาสตร์ ก็มีผลงานนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยทั้งของอาจารย์ และของนักศึกษา ในระดับต่าง ๆอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทักษะดิจิทัล ทักษะทางด้านโค้ดดิ้ง และปัญญาประดิษฐ์(AI) ดังนั้นต่อไปก็คือการนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทดลองและนำร่องใช้แล้วในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อไปคงขยายผลและนำร่องในโรงเรียน สังกัด สพฐ. เพื่อถอดองค์ความรู้ ถอดบทเรียนออกมาปรับปรุงและใช้เป็นโมเดลต้นแบบในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และขยายผลไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ของ สพฐ.ต่อไป.