สำนักข่าว : naewna
URL : https://www.naewna.com/local/555399
วันที่เผยแพร่ : 26 ก.พ. 2564
ที่ห้องประชุมชั้น 3 สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาคารพิมลกลกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการประชุมหารือระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด) นำโดย นายวรพงศ์ ดอกเกี๋ยง รอง ผอ.ฝ่ายศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร นายพงษ์ศักดิ์ภูนิลวาลย์ หัวหน้าส่วนฝ่ายศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร นายขวัญพัฒน์ ไชยประเสริฐผู้จัดการศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจรขอนแก่น เจ้าหน้าที่กับสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มข. นำโดย รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผอ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มข. อาจารย์วีระ ภาคอุทัย และ ผศ.ดร.เกษม นันทชัย ที่ปรึกษาสถาบันฯ ดร.อนุวรรตน์ศรีสวัสดิ์ หัวหน้างานยุทธศาสตร์การพัฒนานายเกรียงศักดิ์ ภูศรีโสม รอง ผอ.ฝ่ายบริหารและ ผศ.ดร.พรณรงค์ ชาญนุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยโครงการ
รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผอ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และ ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มข. เปิดเผยว่า เราเป็นหน่วยงานที่ทำแผนยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดซึ่งเป็นการทำแผนเฉพาะด้านที่เน้นพื้นที่ และยังมีการทำงานพัฒนาพื้นที่ตามประเด็น เช่นพื้นที่ มข.แก้จนการทำเรื่องของการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยการขอแหล่งทุนวิจัยต่างๆ ซึ่ง สสว.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เราเคยทำงานร่วมกันมาก่อนในเรื่องการท่องเที่ยว สำหรับในเรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น ด้วยการมองว่าการหาแหล่งอาหารใหม่กำลังเป็นที่สนใจ เราจึงทำการศึกษาวิจัยแบบเปรียบเทียบใน 2 พื้นที่ คือ บ้านแสนตอกับบ้านฮ่องฮี เพื่อมองหาโอกาสและจุดแข็งในการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้ได้มาตรฐานการผลิต GAP เชื่อว่าในปีนี้เราจะมีฟาร์มที่เข้าไปส่งเสริมจนได้มาตรฐานนี้จำนวน 45 ฟาร์มได้เข้าไปจัดตั้งกลุ่มสร้างเครือข่ายวิจัยและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ซึ่งทุกอย่างเหมือนว่าจะไปได้ดีเป็นเหมือนต้นน้ำของโครงการ มาถึงวันนี้เรามามองถึงกลางน้ำและปลายน้ำของเรื่องนี้ว่าจะไปต่ออย่างไรซึ่งการมาของ สสว.ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีที่จะมาร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการไปสู่เป้าหมายให้ประชาชนได้มีโอกาสมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายพงษ์ศักดิ์ ภูนิลวาลย์ หัวหน้าส่วนฝ่ายศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง กล่าวว่า เรื่องของจิ้งหรีดยังเป็นเรื่องใหม่ในส่วนกลาง แต่สำหรับในภาคอีสานแล้วถือว่า มข.ได้เดินหน้าทำเรื่องนี้ไปไกลมากแล้วแล้วยังเป็นการส่งเสริมที่มีมาตรฐานซึ่งบทบาทของ สสว.เราสามารถช่วยได้ตั้งแต่กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำเช่น รูปแบบกระบวนการบริหารการจัดการ ไทม์ไลน์การจัดเก็บ การคำนวณต้นทุน และยังรวมถึงการใช้บริการของ “Central Lab” โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอประเด็นปัญหากลุ่มคลัสเตอร์จิ้งหรีด ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาที่เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถแก้ไขเองได้ เช่น การขาดมาตรฐานในการจัดการ ปัญหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน องค์ความรู้ในการวางแผนการจัดการ
ด้าน อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ที่ปรึกษาสถาบันฯ ได้ให้ข้อคิดเรื่องปัญหาอุปสรรคว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดไม่สามารถจะดำเนินการไปได้โดยลำพังต้องมีการสร้างกลไกให้เกิดการรวมกลุ่มการทำงานซึ่งการจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นโจทย์ที่ยากของการส่งเสริม นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือต้นทุนค่าอาหารที่เป็นต้นทุนหลักถึงร้อยละ 80 ในการเพาะเลี้ยงซึ่งถ้ามีองค์ความรู้ในการผลิตอาหารขึ้นเองได้จะช่วยเกษตรกรได้มาก แต่ทั้งนี้เราอาจต้องเจอกับอุปสรรคของผู้ผลิตอาหารสัตว์ในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ส่วนปัญหาอีกประการคือการกำหนดมาตรฐานฟาร์มที่ยังมีรายละเอียดสูงรวมทั้งการใช้เงินทุนจำนวนมากเกินกว่าเกษตรกรจะดำเนินการได้ จึงอยากให้มีการแบ่งระดับการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมกับการส่งเสริมในระดับชุมชนชาวบ้าน
ที่ประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในหลายประเด็น จากนั้น รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผอ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มข. พร้อมคณะ ได้นำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ลงพื้นที่ชมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดและการแปรรูป ที่บ้านแสนตออ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นหมู่บ้านในโครงการการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มข. เข้าไปดำเนินการ จนได้รับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดปลอดภัย GAP จำนวน 21 ฟาร์ม ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย