เภสัชฯ มข.จัดประชุมระดับนานาชาติ เฝ้าระวังสารปนเปื้อน เสริมความรู้อาหารปลอดภัย

วันนี้ (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการอบรมรูปแบบออนไลน์ ภายใต้งาน Early Detection of Unsafe Food by Risk-Based Programme  ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์กล่าวรายงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย อาจารย์สาขาวิชาเภสัชศาสตรสังคมและการบริหารหัวหน้าโครงการฯ  โดยมีบุคคลากรจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วมรับการอบรมจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศจีน และประเทศไทย ณ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน อาคารศูนย์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และระบบประชุมออนไลน์

โครงการอบรมเรื่อง Early Detection of Unsafe Food by Risk-Based Programme จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 โดยหลักสูตรเนื้อหาประกอบด้วย แหล่งที่มาของการปนเปื้อนและอันตรายต่อสุขภาพ การใช้ชุดทดสอบเพื่อคัดกรองความไม่ปลอดภัยของอาหารเบื้องต้น หลักการวางแผนและเก็บตัวอย่างของอาหารที่ส่อว่าไม่ปลอดภัยอย่างมีส่วนร่วมในชุมชน การรายงานและการสื่อสารผลการตรวจไปยังกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวเกี่ยวข้อง บรรยายเนื้อหาโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการดำเนินงานภายใต้ทุนสนับสนุนงบประมาณดำเนินการกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจถึงกระบวนการค้นหาอาหารปนเปื้อนสารที่อันตรายต่อสุขภาพในระดับชุมชน เนื่องด้วยการพัฒนาเพื่อการกระจายสินค้าในการเพิ่มความพร้อมในเขตการค้าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศในการผลิตอาหาร ที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ตลอด

“กระผมยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้เข้าร่วมจากประเทศเพื่อนบ้านในหลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อการทำงานร่วมกันของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องป้องกันและเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยของอาหาร กระผมเชื่อมั่นว่าหลักสูตรนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการพัฒนาส่วนบุคคลและวิชาชีพของผู้เข้าอบรม แต่ยังเป็นแรงผลักดันอย่างมากในการพัฒนาเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อเป็นผู้นำและเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านของเราได้ต่อไป” อธิการบดี กล่าว

รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากนั้น รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ได้กล่าวถึงการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตทั่วโลก โดยในปัจจุบันการค้าอาหารระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน และมีแนวโน้มว่าจะมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัยข้ามพรมแดนมากยิ่งขึ้น

“การตรวจหาความปลอดภัยของอาหารในระยะเริ่มต้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้จึงได้มีการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจของผู้เข้ารับการอมรบ ให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจหาความปลอดภัยของอาหารในระยะเริ่มต้น และเสริมสร้างความสามารถในการวิเคราะห์สารปนเปื้อนในอาหาร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ กล่าว

รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย อาจารย์สาขาวิชาเภสัชศาสตรสังคมและการบริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นอกจากนี้ รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย อาจารย์สาขาวิชาเภสัชศาสตรสังคมและการบริหาร ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อธิบายถึงความคาดหวังสำหรับการจัดหลักสูตรอบรม ว่าต้องการให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถทำความเข้าใจถึงสารอันตรายที่สามารถพบเจอได้ในอาหาร การปนเปื้อนภายในอาหารที่นำมาสู่อาหารที่ไม่ปลอดภัย และอันตรายของสารปนเปื้อนต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบการปนเปื้อนของอาหารของแต่ละประเทศได้

การดำเนินการของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการประสานร่วมมือกับประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการอบรมกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างประเทศสมาชิก และสามารถที่จะนำไปสู่การทำงานในด้านอาหารปลอดภัย ที่มีประสิทธิภาพในการเป็นแนวทางเพื่อเฝ้าระวัง และตรวจสอบอาหารภายในประเทศต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัยในการบริโภคต่อไปได้ในอนาคต

Scroll to Top