สำนักข่าว : กรมประชาสัมพันธ์
URL : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210208151704464
วันที่เผยแพร่ : 8 ก.พ. 2564
คณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ชี้แจงและหารือแนวทางการดำเนินงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์
คณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ชี้แจงและหารือแนวทางการดำเนินงาน กับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายการจ้างงานในจังหวัดกาฬสินธุ์เฟสแรก 34 ตำบล 680 คน
ในการประชุมชี้แจงและหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ซึ่งมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงและแนวทางการดำเนินงานจากคณะทำงานฯ ซึ่งมี รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดี ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้แทนในการชี้แจง
โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ขับเคลื่อนโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ) นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย นิสิต นักศึกษา เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ระดับตำบลทั่วประเทศ เกิดการสร้างงาน และเกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหา และเศรษฐกิจของรายตำบล แบบพุ่งเป้า โดยจะดำเนินการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์-30 ธันวาคม 2564 จัดทำใน 3,000 ตำบลทั่วประเทศครอบคลุมทุกภาคทุกจังหวัด สำหรับในจังหวัดกาฬสินธุ์มีเป้าหมายในพื้นที่ เฟสแรก 34 ตำบลๆ ละ 20 คน ประกอบด้วย นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี 5 คน นักศึกษาจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี ระดับปริญญาตรี จำนวน 10 คน และประชาชนในพื้นที่ 5 คน รวม 680 คน ซึ่งการปฏิบัติงานจะมีทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ใน 4 กิจกรรม คือการอบรมเกี่ยวกับอาชีพในชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งเสริมด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีสถาบันการศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราช วิทยาลัย วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลนี้เป็นโครงการที่ดีที่ทำให้ประชาชน บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ได้มีงานทำเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ของชุมชน ครอบครัวและแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่