เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ณ แปลงนาของนางสมภาร ผาเป้า บ้านโต้น ต.พระยืน อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักบริการวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติ จัดโครงการ “ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง” ร่วมกับอำเภอพระยืน เทศบาลตำบลบ้านโต้น และสำนักกิจกรรมเพื่อสังคมเครือเบทาโกร เพื่อฟื้นฟูและสืบสานประเพณีอันดีงาม ถอดบทเรียนจากชุมชน “ลงแขกเกี่ยวข้าว” แบบวิถีพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมี รองศาสตราจารย์เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ เป็นประธานในพิธีเปิด นายสุทธิพษ์ คำหนูไทย สมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านโต้น เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน และมี นางอนงค์ ไชยศรี ปลัดเทศบาลตำบลบ้านโต้น รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีตำบลบ้านโต้น กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีเปิด ซึ่งมีนักศึกษา บุคลากร ผู้นำชุมชน และเกษตรกรในชุมชน เข้าร่วมกิจกรรม “ลงแขกเกี่ยวข้าว” สืบทอดมรดกทางปัญญาจากรุ่นต่อรุ่นในอีกมิติหนึ่งให้หวนกลับมาอีกครั้ง
รองศาสตราจารย์เกรียงไกร กิจเจริญ กล่าวว่า “การบริการวิชาการด้านการส่งมอบคุณค่าแก่ประชาคม ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในการปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ ในการพัฒนาด้านการบริการวิชาการ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชากรในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น จึงได้ทำโครงการสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวขึ้น เพื่ออนุรักษ์ และเรียนรู้ประเพณีการเกี่ยวข้าว รวมทั้งสืบสานวัฒนธรรมการเกี่ยวข้าวของชาวอีสาน ให้นักศึกษาได้สัมผัสเรียนรู้การเกี่ยวข้าวทั้งทางกายภาพและทางจิตวิญญาณ มีส่วนร่วม บูรณาการอยู่ในกิจกรรมการลงแขกและการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อสร้างสรรค์ความสามัคคีในชุมชนความเป็นส่วนรวม สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่สรรค์สร้างที่สืบทอดสืบทอดมรดกทางปัญญาต่าง ๆ ของสังคมจากรุ่นต่อรุ่น”
“เราได้มีความร่วมมือทำโครงการแบบองค์รวมต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว ทำให้ทราบว่าชาวนาในภาคอีสานทำนาหว่าน ซึ่งใช้พันธุ์ข้าวปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรค่อนข้างสูง จึงได้นำ “ช่องสาลิกาโมเดล”ของบริษัทเบทาโกรที่จ.ลพบุรี ที่ทำนาโยนแล้วได้ผลดีมาใช้ โดยนำข้าวเจ้าหอมมะลิแดงจากลพบุรีมาลงที่บ้านโต้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีผลผลิตปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่แนแปลงนี้เป็นแปลงแรก ดังนั้น เราจึงต้องทำวิจัยต่อไปว่า ผลผลิตที่ได้รับแตกต่างอย่างไร สามารถเพิ่มรายได้ เพิ่มผลผลิตได้เพียงใด เพื่อให้มีความยั่งยืนตามมา เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการดูแลสุขภาพองค์รวม โดยมีคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ลงพื้นที่ให้บริการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนร่วมกันอีกด้วย”
ด้าน นางสมภาร ผาเป้า เกษตรกรเจ้าของแปลงนา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาช่วยให้ความรู้ในการทำนา โดยแนะนำให้ปลูกถั่วลิสงบำรุงดินในช่วงหลังเก็บเกี่ยว โดยเมื่อปีที่แล้วนำพันธุ์ข้าวธัญศิรินทร์มาให้ปลูก เดิมปลูกข้าวได้ผลผลิตไร่ละ 15 กระสอบ แต่พอมหาวิทยาลัยมาแนะนำ ก็ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นขึ้นถึง 45 กระสอบต่อไร่ ปีนี้เนื่องจากที่บ้านทำนากันเพียงสองคน จึงได้รับคำแนะนำให้ทดลองทำข้าวนาโยน ในพื้นที่ 1 ไร่ โดยวันนี้เก็บเกี่ยวแล้ววันนี้ไม่มีค่าจ้างเกี่ยวข้าว ทำให้ลดค่าใช้จ่าย รู้สึกดีใจมากๆ และภูมิใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ทิ้งเกษตรกร ประชาชน รวมทั้งเทศบาลบ้านโต้นที่เข้ามาช่วยเหลือ อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ประชาชนอ.พระยืนได้เห็นว่าการทำนาโยนดี ไม่ใช้แรงงานมาก แต่ได้ปริมาณผลผลิตมาก ประหยัดค่าใช้จ่าย เดิมต้องจ้างแรงงานในการทำนาวันละ 300 บาท อย่างน้อยวันละ 5 คน แต่พอทำนาโยนก็ทำเองสองคนตายาย จำนวน 5 ไร่ ก็ไม่หนักมากสามารถทำได้เอง ต้นข้าวก็งอกงาม มีผลผลิตที่ดีค่ะ”
“หมี” อาจารย์ สุริวงสา ลัดสะหมี นักศึกษาแลกเปลี่ยน ระดับปริญญาเอก คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นอาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กล่าวว่า “วันนี้มากับอาจารย์รุ่นน้องจากสปป.ลาว ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทคณะเดียวกัน เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาเห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน เหมือนเป็นพี่น้อง ได้มาแลกเปลี่ยนบทเรียนหลายด้าน เช่น วิถีเกี่ยวข้าว ทำงานร่วมกัน กินข้าวร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นได้เผยแพร่วัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งที่สปป.ลาว ยังมีการดำรงชีวิตคล้ายกันกับทางขอนแก่น ที่ยังคงวิถีการดำเนินชีวิต
โครงการ “ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง” ของสำนักบริการวิชาการ นับเป็นการสร้างกลไกการขับเคลื่อนในการทำงานร่วมกับชุมชน นอกจากการสืบสานประเพณีอันดี และการเรียนรู้เรื่องราวของพื้นที่ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนแห่งการเรียนรู้แล้ว การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ยังพัฒนาส่งเสริมให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่าย และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มผลผลิต เป็นรูปแบบหนึ่งในการพัฒนาชุมชนที่จะส่งผลให้ชุมชนเติบโตมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู