“บวร” ร่วมคิด จ.อุบลฯ พร้อมลุย “โคก หนอง นา โมเดล” กว่าสี่พันแปลง เน้นย้ำ! ถูกต้อง โปร่งใส เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เป็นแหล่งเรียนรู้ สู้ภัยโควิด-19

สำนักข่าว: NNT

URL:https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210119211612213

วันที่เผยแพร่: 19 ม.ค. 2564

(19 มกราคม 2564) ณ ห้องประชุมค้ำคูณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี นายเมธา รุ่งฤทัยวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานประชุมการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความเมตตาจากพระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน  พระครูวิมลปัญญาคุณ    เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม พระวรวุฒิ อาจารสุโภ เจ้าอาวาสวัดภูอานนท์ อำเภอโขงเจียม ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการฯ พร้อมด้วย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการในฐานะคณะทำงานฯ ระดับจังหวัด นายอำเภอและพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ นักวิชาการพัฒนาชุมชนและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ตลอดจนคณะวิทยากรจากทีม SAVE UBON วิทยากรประจำจุดฝึกอบรมทั้ง 5 จุดในจังหวัดฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะภาคีเครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือเเละสนับสนุนงานพัฒนาชุมชน ตามหลัก ”บวร”หรือ บ้าน วัด และราชการ ที่ร่วมกันดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด

จังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบเงินกู้รัฐบาล และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” 5 กิจกรรม งบประมาณ จำนวน 576,592,500 บาท กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3,960 ครัวเรือน/แปลง ดำเนินการในระดับพื้นที่ 25 อำเภอ 177 ตำบล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม การเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนองนา โมเดล ด้วยการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบล และระดับครัวเรือน และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี มีแผนดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ในระดับจังหวัด ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล จำนวนงบประมาณ 32,263,300 บาท จังหวัดอุบลราชธานี เตรียมดำเนินการ ในจุดดำเนินการ 5 จุด ดังนี้ 1)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู อำเภอตระการพืชผล 2)หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านซะซอม (วัดภูอานนท์) อำเภอโขงเจียม 3)โรงเรียนศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม 4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนตำบลท่าช้าง (ศูนย์สารภี) อำเภอสว่างวีระวงศ์ 5)ศูนย์คุณธรรมป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ครัวเรือนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน จำนวน 3,892 คน และผู้เข้าร่วมโครงการจ้างงานสร้างรายได้ จำนวน 898 คน รวม 4,790 คน ดำเนินการ 48 รุ่น ๆ ละ 100 คน กำหนดแผนดำเนินการรุ่นแรก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และกิจกรรมที่ 3 สร้างงานสร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน จำนวนงบประมาณ 96,984,000 บาท กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 898 คน ระยะการจ้างงาน 12 เดือน เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน

ในส่วนของโครงการฯ ที่ดำเนินการในระดับอำเภอ จังหวัดฯ ได้แจ้งจัดสรรงบประมาณตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab

Model for quality of life : CLM ระดับตำบล และพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM ระดับครัวเรือน งบประมาณ 309,325,200 บาท ซึ่งจังหวัดได้แจ้งรายละเอียดงานปรับรูปแบบแปลงที่ดินตามแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล ขนาด 1 ไร่ 3 ไร่ 10 ไร่ และ 15 ไร่ โดยความร่วมมือจากสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชมรมโคก หนอง นา วิศวะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้สรุปรายการแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล กรมการพัฒนาชุมชน พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ HLM และพื้นที่ชุมชนต้นแบบ CLM จำนวน 48 รายการ / กิจกรรมที่ 4 กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและ

สนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพ

ชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM ระดับครัวเรือน งบประมาณ 77,840,000 บาท ดำเนินการในระดับอำเภอ การดำเนินการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มพัฒนาพื้นที่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้  เอามื้อสามัคคี จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ครุภัณฑ์ สำหรับฝึกปฏิบัติแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น ปุ๋ย ฟางข้าว แกลบ จอบ เสียม กล้าไม้ พันธุ์ไม้ เป็นต้น  กิจกรรมที่ 5 บูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล งบประมาณ 60,180,000 บาท ดำเนินการในระดับอำเภอ ดำเนินการสร้างฐานการเรียนรู้ 9 ฐาน  สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ โดยให้อำเภอพิจารณาจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นเพื่อใช้ในการสาธิตการสร้างฐานการเรียนรู้ เช่น ไม้ ต้นไผ่ ใบจาก ใบตองตึง ใบหญ้าคา หญ้าแฝก

โอกาสนี้ จังหวัดฯ ได้แจ้งประสานคณะทำงานฯ คณะวิทยากร และหน่วยงานภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ในการขอรับการสนับสนุนบุคลากรผู้มีความรู้ด้านช่าง ในการออกแบบรายละเอียดงานปรับรูปแบบแปลงที่ดิน ช่างควบคุมงานและร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับ และของดเว้นค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในกรณีพื้นที่เรียนรู้ดำเนินการขุดดิน ตามแบบที่มีความลึกจากระดับพื้นดินเกินสามเมตร (มาตรา 17 พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543) นอกจากนั้นที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาร่างแบบสัญญาจ้างปรับรูปแปลงตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” สำหรับพื้นที่ขนาด 1 ไร่ และ 3 ไร่ และการเข้าร่วมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2564 จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 791 แปลง ประกอบด้วย 1 ไร่ จำนวน 620 แปลง 3 ไร่ จำนวน 171 แปล โดยประธานที่ประชุมได้เน้นย้ำ ให้ทุกหน่วยงานและอำเภอ ได้กำกับติดตามการดำเนินงานในทุกแปลง โดยให้คำนึงถึงความถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดสุขแก่พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมขอบคุณส่วนราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุน ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ต้นแบบให้แก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากนั้น บริเวณลานหน้าอาคารการประชุมยังได้มีการจัดนิทรรศการ พร้อมจัดแสดงสินค้าและผลผลิตตามโครงการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จากแปลงตัวอย่าง “โคก หนอง นา โมเดล” จากศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) อ.สว่างวีระวงศ์ ซึ่งประสานและดำเนินกิจกรรมโดยนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นการส่งเสริมกิจกรรมของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ สร้างโอกาสและรายได้จากสัมมาชีพชุมชน ตลอดจนสนองนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล ในการสร้างทางรอดจากภัยโควิด-19 อีกทางหนึ่งด้วย

Scroll to Top