สำนักข่าว: แนวหน้า
URL: https://www.naewna.com/lady/544204
วันที่เผยแพร่: 10 ม.ค. 2564
กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” (Orange Spike) โดย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) ร่วมด้วยซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ และเชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ตัวแทนผู้บริโภคและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) ร่วมกันจัดกิจกรรม“หยุดส้มอมพิษ” (Orange Spike) เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคแสดงสิทธิให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพเนื่องจากส้มในปัจจุบันมีสารเคมีตกค้างถึง55 ชนิด เฉลี่ยถึง 0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) และเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด จึงใช้กลไกตรวจสอบย้อนกลับ ผลักดันผู้ผลิตลดใช้สารเคมี ผู้จำหน่ายคัดกรองแหล่งที่มาของส้มปลอดภัย รัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท
โดยได้รับเกียรติจาก มร.จูเซปเป บูซินี (Mr.Giuseppe Busini) อัครราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน จากนั้นเป็นกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยนส้มอมพิษเป็นส้มปลอดภัย – เปลี่ยนที่ใคร? เริ่มตอนไหนถ้าไม่ใช่ตอนนี้ !!” มีผู้ร่วมเสวนาจากภาคประชาชนและซูเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, เชอรี่-เข็มอัปสรสิริสุขะ ตัวแทนผู้บริโภคและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม, ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam),อารยา เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด จุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด
มร.จูเซปเป บูซินี อัคราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
สำหรับเนื้อหาการพูดคุยนั้นมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับที่ปัญหาสารพิษในส้ม ภัยร้ายที่ทางประชาชนเองสามารถเรียกร้องให้ซูเปอร์มาเก็ตมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มก่อนนำมาจำหน่าย รวมไปถึงเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งปลูกส้ม วิธีปลูก รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรอง อีกหนึ่งไฮไลต์ของกิจกรรมหยุดส้มอมพิษคือการสาธิตวิธีสแกนคิวอาร์โค้ด ส้มในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาเก็ต ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อ และการเปิดตัวแคมเปญ“Scorange” ที่ผู้บริโภคสามารถติดตามรายละเอียดการเข้าร่วมได้ที่เพจเฟซบุ๊ค Dear Consumers
กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” ได้เชิญชวนให้ประชาชนแสดงสิทธิของผู้บริโภคด้วยการลงนามผ่านทางข้อเรียกร้อง www.dearconsumers.com/th/petition เพื่อให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำให้หยุดขายส้มอมพิษ ติด QR Code เพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่าย พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้และกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท โดยคาดหวังจำนวนผู้ร่วมลงนามไม่ต่ำกว่า 15,000 คน