สำนักข่าว: ผู้จัดการออนไลน์
URL: https://mgronline.com/south/detail/9630000128464
วันที่เผยแพร่: 16 ธ.ค. 2563
ปัตตานี – ศอ.บต.ผนึกกำลัง 4 ภาค จ่อดัน “ฮาลาลปัตตานี” ยกระดับ “ไก่พื้นเมือง” สู่การแปรรูป “ไก่ฮาลาล จังหวัดชายแดนใต้” เตรียมส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เลี้ยงไก่ KKU-1 เพื่อจำหน่าย และส่งออก
ความคืบหน้าการผลักดันผลิตภัณฑ์แปรรูป “ไก่ฮาลาล” เพื่อการส่งออก วานนี้ (15 ธ.ค.) ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ศอ.บต. ได้จัดการประชุมแปรรูปไก่ฮาลาลเพื่อการส่งออก ครั้งที่ 3 เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่ และส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล จ.ปัตตานี ให้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล
โดยมี ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ เป็นประธานการประชุม และมี นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. รองอธิการบดีมหาวิทยาลันขอนแก่น ผู้บริหารบริษัท เอ.ซี.เอฟ แอนด์ คอนเทนเนอร์ โฟรเซน ฟาร์ม จำกัด ประธานมูลนิธิเพื่อการแพทย์และสาธารณกุศล หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือขับเคลื่อนส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่สายพันธุ์ KKU-1 มีเป้าหมายให้ประชาชนมีอาชีพ และมีรายได้เพิ่ม โดยตั้งเป้าดำเนินการปี 2564
องเลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า ศอ.บต. เป็นคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้า และผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาลในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งจะมีการดำเนินการส่งเสริม และสร้างฐานการผลิต ผลักดันไก่ฮาลาลในพื้นที่เป็นอันดับแรก ภายใต้คณะอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งได้หารือภาคเอกชน และนักวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เลี้ยงไก่ KKU-1 เพื่อจำหน่าย และส่งออก กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ในครัวเรือนระดับฐานราก ตั้งเป้าครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ภาครัฐสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงแก่ประชาชนในพื้นที่
สำหรับการส่งเสริมการแปรรูปไก่ฮาลาลเพื่อการส่งออก เป็นการขับเคลื่อนภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้า และผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาลในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากปัจจุบันการแปรรูปสินค้าฮาลาลส่งออกในจังหวัดชายแดนใต้ จะต้องส่งสินค้าไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อประทับตราฮาลาล และส่งออกให้ ซึ่งรัฐบาลเห็นควรว่าเนื่องด้วยพื้นที่ จ.ปัตตานี และจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ฮาลาลด้วยความเป็นอยู่ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะสามารถสร้างแบรนด์ฮาลาลจากปัตตานีได้ ที่ประชุมจึงเห็นควรผลักดันไก่ฮาลาลเป็นสินค้าแรก โดยส่งเสริมให้เลี้ยงไก่ KKU-1 ซึ่งเป็นไก่บ้านเนื้อผสม เกิดจากการวิจัยผสมสายพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์พื้นเมือง และไก่เนื้อทางการค้าของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เลี้ยงง่าย มีระยะเวลาการเลี้ยงเพียง 35 วัน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการเสนอดำเนินการ MOU ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการเลี้ยงไก่ KKU-1 ในพื้นที่ เพื่อการค้า และจำหน่าย ประกอบด้วย ศอ.บต. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สภาเกษตรกร มูลนิธิเพื่อการแพทย์และสาธารณกุศล และภาคเอกชน เป็นต้น