สำนักข่าว: ประชาชาติธุรกิจ
URL: https://www.prachachat.net/education/news-563466
วันที่เผยแพร่: 27 พ.ย. 2563
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นแท่นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับ 43 ของเอเชีย จากการอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย ประจำปี 2021 โดย QS Asia University Rankings
วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2563 รายงานข่าวระบุว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับ 43 ของเอเชีย จากการอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย ประจำปี 2021 โดย QS Asia University Rankings ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เป็นที่นิยมระดับโลก
โดยจุฬาฯ ได้คะแนนในระดับสูงในด้านความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) อยู่ในอันดับที่ 22 ของเอเชีย ด้านเครือข่ายการวิจัยนานาชาติ (International Research Network) ซึ่งวัดจากข้อมูลจากการตีพิมพ์ร่วมกับนักวิจัยชาวต่างประเทศในฐานข้อมูล Scopus อยู่ในอันดับที่ 26 และด้านการได้รับการยอมรับจากนายจ้าง (Employee Reputation) อยู่ในอันดับที่ 29
สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ได้รับการอันดับอยู่ใน 50 มหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียปีนี้ มี 2 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อันดับ 43) และมหาวิทยาลัยมหิดล (อันดับ 44) นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันดับ 102) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อันดับ 111) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อันดับ 149) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อันดับ 151) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อันดับ 165) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (อันดับ 189) เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย QS Asia University Rankings ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2018 – 2021) จุฬาฯ มีอันดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียปีนี้จากมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น 650 แห่งที่ได้รับการจัดอันดับ National University of Singapore ครองมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชียเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน อันดับ 2 มหาวิทยาลัย Tsinghua University ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และอันดับ 3 Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์
การจัดอันดับ QS Asia University Rankings 2021 พิจารณาจากตัวชี้วัดหลัก 11 ด้าน ในสัดส่วนน้ำหนักการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย ความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (30%) การเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง (20%) สัดส่วนของอาจารย์ต่อนิสิต(10%) เครือข่ายการวิจัยนานาชาติ (10%) การอ้างอิงต่อผลงานวิชาการ (10%) ผลงานวิชาการต่ออาจารย์ (5%) อาจารย์และนักวิจัยที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก (5%) สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ (2.5%) สัดส่วนของนิสิตชาวต่างชาติ (2.5%) สัดส่วนของนิสิตแลกเปลี่ยนต่างชาติ (2.5%) สัดส่วนของนิสิตที่ไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ (2.5%)