สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL: https://www.banmuang.co.th/news/region/210844
วันที่เผยแพร่: 29 ต.ค. 2563
ภาคีเครือข่ายฯ จัดตรวจ คัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่าขอนแก่น ดร.ศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีเปิดโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram)ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส โดยมี นพ.ชัยพร พรหมสิงห์ ผู้แทนมูลนิธิกาญจนบารมี นายจุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ผศ.นพ.องอาจ โสมอินทร์ อาจารย์แพทย์ทางด้านศัลยกรรม ภาควิชาศัลยกรรมคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.พญ.จิราภรณ์ ศรีนครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง และผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์โรงพยาบาลราชพฤกษ์ นางเพ็ญนิดา นางเพ็ญนิดา ไชยสายัณห์ ผช.ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น นางวรินทร์พร ณิชาภัทรนารากุล ผู้แทนชมรมรู้เท่าทันมัจจุราชสีชมพู คุณนิสา ชาภู่พวง ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าขอนแก่น ผู้บริหารและผู้แทน ภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปร่วมงาน
ดร.ศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่าโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นับได้ว่าเป็นโครงการที่ก่อประโยชน์ แก่คนกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ซึ่งจังหวัดขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ป้องกันมะเร็งเต้านมโลก
จากคำกล่าวรายงานของผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ทำให้ทราบว่า สตรีไทยมีปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ คือ โรคมะเร็งเต้านม แต่โรคนี้สามารถรักษาหายได้ หากได้รับการตรวจคัดกรองค้นพบตั้งแต่ในระยะแรกของการเกิดโรค และส่งต่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญเรามีเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับคัดกรองที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) โดยครั้งนี้จังหวัดขอนแก่นได้รับการสนับสนุนเครื่องมือนี้จากมูลนิธิกาญจนบารมี ซึ่งจะทำให้ประชาชนชาวขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง เข้าถึงการตรวจคัดกรองและการรักษาอย่างถ้วนหน้า
ด้าน นางเพ็ญนิดา ไชยสายัณห์ ผช.ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กล่าวว่า ในนามของผู้จัดทำโครงการ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธาน ในพิธีเปิดโครงการ คัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ในวันนี้ โรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากของสตรีในยุคปัจจุบัน ปัจจุบันมีอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นสูง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของสตรีไทย โดยพบอัตราตายปี 2561 เป็น 13.3 ต่อแสนประชากร และในปี 2562 อัตราตายสูงขึ้นเป็น 13.9 ต่อแสนประชากร
ซึ่งคาดการณ์ว่า อัตราป่วยและตายด้วยโรคมะเร็งเต้านมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มะเร็งเต้านม ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ หรือความผิดปกติให้สังเกตได้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้า กว่าจะได้ตรวจพบก้อนในเต้านมและวินิจฉัยชัดเจน ทำให้มีการแพร่กระจายและลุกลามของโรคไปมากแล้ว จากสถิติพบว่า ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะมาด้วยการคลำพบก้อนที่เต้านม ซึ่งอาการผิดปกติจะปรากฎเมื่ออยู่ในระยะที่มีการอักเสบลุกลามไปทั่ว และทำให้เสียชีวิต การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การค้นหาความผิดปกติของเต้านมให้เร็วที่สุด เพื่อโอกาสในการรักษาและรอดชีวิต หากค้นพบโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกและส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาให้ได้เร็วที่สุด จะสามารถรักษาให้หายได้ การลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม ทำได้โดย การตรวจเต้านมด้วยตนเอง การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีคัดกรองที่มีประสิทธิภาพที่สุด
นางเพ็ญนิดา กล่าวอีกว่า ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี และภาคีเครือข่ายป้องกันภัยจากมะเร็งเต้านมทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นความสำคัญของการเฝ้าระวังมะเร็งเต้านม และค้นหาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จึงจัดกิจกรรมคัดกรองมะเร็งเต้านมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระราชกุศลแด่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 รวมทั้งเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง จนสามารถค้นหามะเร็งในระยะแรกเริ่มได้ พร้อมทั้งเป็นกระบอกเสียง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง.