สำนักข่าว: สยามธุรกิจ
URL: ลิงก์
วันที่เผยแพร่: 2 ต.ค. 2563
“ไม่ว่าเราจะคิดริเริ่มทำอะไรกับชุมชน ผมต้องถามประชาชนในพื้นที่ก่อนว่า ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราจะทำหรือไม่ และพวกเขาจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราจะทำให้กับชุมชนได้จริงหรือไม่”
สิ้นเสียงของนายนริศ กิจอุดม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่ อำเภอนายายอาม จังหวัดนนทบุรี ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น ที่ได้บอกถึงความสำเร็จในทุกๆด้านของตำบลวังใหม่ ในงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคกลาง จัดโดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น ที่ผ่านมา
นายนริศ กล่าวว่า ในการทำงานที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันทั้ง 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายท้องถิ่น ,ท้องที่,ภาครัฐ และภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายของความสำเร็จคือ การตอบโจทย์ของพื้นที่ที่ต้องครอบคลุมในทุกมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สภาวะแวด้อม สุขภาพ การเมืองการปกครอง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จึงเป็นที่มาของการทำงานที่ประสบความสำเร็จของตำบลวังใหม่
นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส.กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 1 ทศวรรษของการขับเคลื่อนการทำงานร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้แผนสุขภาวะชุมชน ได้จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค เพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินงานร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในแต่ละภูมิภาค เสริมศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่นให้สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์รูปธรรมการปรับตัวหรือตั้งรับ (resilience) ของชุมชนท้องถิ่นทั้งในสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์วิกฤติ และขยายผลแนวคิด แนวทางการดำเนินงานเครือข่ายสู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นายธวัชชัย กล่าวว่า การสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นในอนาคต เราจะต้องมีการสร้างผู้นำแบบตัวตายตัวแทน เพื่อให้งานที่ทำขับเคลื่อนไปได้ และเพื่อให้การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง จะต้องประกอบไปด้วย 4 องค์กรหลักได้แก่ คือ ฝ่ายท้องถิ่น ,ท้องที่,ภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดภาคียุทธศาสตร์ขึ้นมา เมื่อทั้ง 4 องค์กรมารวมกันได้จะเกิพลังในด้านต่างๆขึ้นมา ร่วมกันทำกิจกรรม และทำให้เกิดความสำเร็จ แต่จะเกิดความสำเร็จดังกล่าวได้เราจะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งหากจะเปรียบเทียบว่าผู้นำเหมือนหิ่งห้อยที่แสงสว่างในตัวเอง และถ้าผู้นำทุกคนกระพริบแสงสว่างพร้อมๆกันจะกลายเป็นพลังที่ทรงคุณค่าและเข้มแข็ง เหมือนกับช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้
และสิ่งที่ตนอยากจะฝากไว้ในวันนี้คือ การทำงานในอนาคต ที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกองค์การจะต้องมีการทำงานแบบรวดเร็ว(Fast integration) ซึ่งมีการทำงานเป็นในลักษณะดังนี้ เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง(อุปกรณ์พร้อมทุกอย่าง),เมื่อเห็นเค้าลงหรือเกิดเหตุสามารถแก้ไขป้องกันได้ทันที,ใช้กลยุทธ์ทำอะไรได้ก่อนทำ แล้วมาจัเรียงเข้าระบบภายหลัง,แผนปฏิบัติการจะครอบคลุมแต่มีบางส่วน ทำแล้ว กำลังทำ และจะทำต่อไป สุดท้ายปรับปรุงแก้ไข สถานการณ์ แผนงานได้รวดเร็วและยืดหยุ่น
อย่างไรก็ตาม เรื่องผู้สูงอายุ เศรษฐกิจชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาหารชุมชน สุขภาวะชุมชนในการรับมือโรคอุบัติใหม่ เป็นประเด็นที่ทั้ง 4 ภูมิภาคตกผลึกตรงกันที่จะกำหนดทิศทางในการพัฒนาขับเคลื่อนสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง โดยมีกระบวนการคัดเลือกสุดยอดนวัตกรรม 3 ประเภท คือ นวัตกรรมเชิงระบบ นวัตกรรมเชิงกระวบการ และนวัตกรรมเชิงเทคนิค เพื่อเป็นแนวทางให้กับพื้นที่อื่นๆ”นายธวัชชัยกล่าว
ด้าน นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สสส.และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ขับเคลื่อนสร้างนวัตกรรมโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมกับการแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่น คือ 1. บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ฯลฯ ให้ทุกคนในชุมชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 2. สวัสดิการชุมชน เช่น การช่วยเหลือ จัดตั้งกลุ่มด้านต่างๆ เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มฌาปนกิจ สงเคราะห์ ทั้งนี้ สสส.มีเป้าหมายที่จะร่วมกันสร้างผู้นำ ตำบลละ 200 คน และ 110 ทุนทางสังคม นั่นคือ 3,000 ตำบลของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต้องสร้าง 600,000 ผู้นำ กับ 330,000 ทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือนวัตกรรม เชื่อมั่นว่า เราทำได้อย่างแน่นอน และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม ทำให้เกิดศักยภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.พีรพงษ์ บุญสวัสดิ์กุลชัย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคกลาง ว่า ขับเคลื่อน 6 ประเด็นสำคัญ ที่จะร่วมกันกำหนดทิศทางในการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง คือ 1.สร้างคุณภาพสังคมเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งการเตรียมความพร้อมสถานการณ์ผู้สูงอายุ และการดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติ 2.จัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ น้ำ เป็นต้น 3. ลดปัจจัยเสี่ยง ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคยาสูบ และความปลอดภัยบนท้องถนน 4.เศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดหนี้ เพิ่มเงินออม 5. การจัดการสุขภาพชุมชน และสวัสดิการชุมชนหลายมิติ เช่น การรับมือกับโรคติดต่อแบบ New Normal 6.สร้างอาหารปลอดภัย เน้นพึ่งพาตนเองตนเองด้านอาหารในภาวะปกติและภาวะวิกฤติการ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครัวเรือน และชุมชน