สำนักข่าว: แนวหน้า
URL: https://www.naewna.com/business/columnist/45318
วันที่เผยแพร่: 17 ก.ย. 2563
จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าระหว่างประเทศ และส่งผลให้ผู้ที่เคยมีงานทำ กลายเป็นคนว่างงานกว่า 2.5 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือนเมษายน ที่มีจำนวนกว่า 5 แสนคน โดยพบว่าส่วนใหญ่แรงงานได้อพยพกลับภูมิลำเนา ดังนั้น การบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวจึงต้องเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง และการสร้างการมีงานทำในชุมชน ทำให้แรงงานที่ว่างงานกว่า 2 ล้านรายกลับมามีงานและรายได้
ทั้งนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลเองก็มองเห็นและให้ความสำคัญกับโจทย์นี้ จึงได้สั่งการไปยังหลายหน่วยงาน ให้เร่งดำเนินโครงการตามเป้าหมายของนโยบายส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง หนึ่งในหน่วยงานรัฐที่มีโครงการลักษณะนี้ที่เด่นชัด คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative IndustryVillage) หรือ หมู่บ้าน CIV และล่าสุดเพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ หมู่บ้าน CIV กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม จัดโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ทักษะความรู้ความสามารถจากคนรุ่นใหม่สร้างกระบวนการเรียนรู้จากการลงพื้นที่จริง ซึ่งถือเป็นเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ที่จะทำให้นักเรียน นักศึกษา เข้าใจถึงบริบทของแต่ละชุมชนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เพื่อวางแผนการดำเนินงานสร้างรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน
ด้านนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในส่วนแนวทางการดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) คือ หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และบริการ หรือกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ใหม่จากการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดมูลค่าใหม่ทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
โดยโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา ได้นักศึกษาจาก 11 มหาวิทยาลัยอาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้การจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจ ตามความต้องการของชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการ การท่องเที่ยว สินค้าและบริการ เทคโนโลยีการผลิต การตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน ทั้งแบบ One day trip และแบบพักค้างคืน และการช่วยยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนได้ ซึ่ง
คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนกว่าครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท และสร้างการมีงานทำในชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10%
“โครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา มีกำหนดดำเนินงานระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน 2563 โดยคาดว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 60 คน” นายณัฐพลกล่าวทิ้งท้าย