สำนักข่าว: สำนักข่าวไทย
URL: https://tna.mcot.net/region-526496
วันที่เผยแพร่: 31 ส.ค. 2563
ขอนแก่น 31 ส.ค.-มหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อยอดพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนรังไหม จากป้องกันกระสุนปืนสั้น สู่เสื้อเกราะรังไหมป้องกันกระสุนปืนเอ็ม 16 ขณะที่ไอดอลสายปืน ลองทดสอบ เอ่ยปากชื่นชมฝีมือคนไทย
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอาจารย์สุธา ลอยเดือนฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอและนวัตกรรม ร่วมแถลงผลงานวิจัย แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเมื่อปี 2558 ได้ร่วมกับกลุ่มหัตถกรรมผ้าของฝากภูเวียงที่ทอผ้าไหม ผลิตแผ่นรังไหมป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ทุกชนิด จนล่าสุดได้พัฒนาให้แผ่นรังไหม สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. หรือ กระสุนปืน เอ็ม 16 ได้ โดยมี 2 รุ่นคือ น้ำหนัก 2 กิโลกรัม และรุ่นน้ำหนัก 1.6 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระแทกทั่วไป 2 – 3 เท่า
แผ่นรังไหมกันกระสุนมีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะเป็นเกราะ จะทำให้กระสุนเกิดการแฉลกไปโดยอวัยวะอื่น หรือผู้ที่อยู่ข้างเคียงได้
ด้านไอดอลสายปืน น้ำอิง กชนก สุตา สาวจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของแชนแนล Naaming Kotchanok ที่มียอดติดตามกว่า 8 แสนคน เธอชอบปืนมาตั้งแต่เด็กเพราะคุณพ่อเป็นทหารอยู่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มยิงปืนจริงจังตอนอยู่มหาวิทยาลัย เพราะได้ฝึกสมาธิ มีปืนมากกว่า 26 กระบอก ทุกครั้งที่จับปืนต้องมีสติคิดเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะ 1กระสุน เท่ากับชีวิต
โดยน้ำอิง ได้นำแผ่นรังไหมกันกระสุน ทั้ง 2 รุ่น มาทดสอบเปรียบเทียบกับแผ่นสแตนเลสกันกระสุนน้ำหนัก 1.3 กิโลกรัม ที่ในปัจจุบัน ผลปรากฎ ถ้าใช้กระสุนปืน เอ็ม 16 ยิงจะทะลุ แต่เป็นแผ่นรังไหมกันกระสุน ทั้ง 2 รุ่น กลับไม่ทะลุ ขณะที่ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี ผศ.ดร.พนมกร ยังบอกด้วยว่า กระบวนการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16 มีกระบวนการผลิตแตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี ใช้รังไหมประมาณ 20% และเพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษ เพื่อให้วัสดุต่างๆ ยึดเกาะกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้แผ่นรังไหมสามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.หรือ กระสุนปืน เอ็ม 16 ได้ และหากนำไปทำเสื้อเกราะ ราคาจะถูกกว่าเสื้อเกราะทั่วไปถึงเท่าตัว.-สำนักข่าวไทย