สำนักข่าว: ผู้จัดการออนไลน์
URL:https://mgronline.com/local/detail/9630000089272
วันที่เผยแพร่: 31 ส.ค. 2563
ศูนย์ข่าวขอนแก่น – ม.ขอนแก่น วิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน M16 สำเร็จ! เผยจุดเด่นรับวิถีกระสุนแล้วไม่แฉลบ น้ำหนักเบากว่าเกราะเหล็กถึง 3 เท่า ราคาถูกกว่าแผ่นเคฟลาร์ พร้อมส่งต่อโนว์ฮาวน์ให้หน่วยงานทหาร ตำรวจ ปรับใช้
วันนี้ (31 ส.ค.) ที่ห้องรับรองพิเศษ ศาลาช่อกาลพฤกษ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแถลงข่าว แถลงข่าว “งานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16” โดยมี รศ.ดร.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายสุธา ลอยเดือนฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ ในฐานะผู้ร่วมกันวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.
ที่ผ่านมาคณะนักวิจัย ม.วิทยาลัยขอนแก่น ได้วิจัยแผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนสั้นได้ทุกชนิด ผลงานล่าสุดได้พัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร หรือกระสุนปืน M16 อาวุธที่ใช้ทางทหารได้สำเร็จ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานขั้นสูงกว่าสำหรับกลุ่มอาวุธสงคราม โดยมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม และรุ่นน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไปในปัจจุบัน 2-3 เท่า
คุณสมบัติของแผ่นรังไหมล่าสุดนอกจากน้ำหนักเบาแล้ว อีกคุณสมบัติเด่นของแผ่นรังไหมรับแรง คือการหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ และหากเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ดีกว่าเกราะอ่อนกันกระสุนที่ทำจากเคฟลาร์ พบว่าแผ่นรังไหมรับแรงมีราคาถูกกว่า และยังสามารถป้องกันอาวุธมีคม อาทิ มีด ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้ แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ชี้แจงถึงผลงานวิจัยแผ่นรังไหม ที่สามารถกันกระสุนอาวุธสงครามได้
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ เจ้าของผลงานวิจัย เปิดเผยว่า กระบวนการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร (มม.) จะมีกระบวนผลิตแตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี แต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้วัสดุต่างๆ ยึดเกาะกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. หรือกระสุนปืน M16 ได้ แตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น แม้ว่าจะนำมาซ้อนกันถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม.ก็สามารถทะลุได้ ต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงที่เพิ่งคิดค้นสำเร็จนี้ โดยได้จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว