สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL: https://www.banmuang.co.th/news/region/202905
วันที่เผยแพร่: 18 ส.ค. 2563
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่นรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับบันทึกข้อตกลง ขอความอนุเคราะห์ชุดนิทรรศการของ อพวช.เรื่อง คืนชีวิตให้ซากสัตว์ (Taxidermy) เพื่อนำมาติดตั้งและจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจและเสริมสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีการเรียนรู้ของสังคมในวงกว้าง
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยคือแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เยาวชน และประชาชน ได้เรียนรู้ วิธีการสตาฟซากสัตว์ ซึ่งเป็นพื้นฐานวิทยาศาสตร์สำคัญที่ผนวกทั้ง วิทยาศาสตร์ และศิลปะ ได้อย่างลงตัว อพวช. ยินดีมากที่จะนำนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถระดับอาเซียน มาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์รอบตัว และปลูกฝังสิ่งแวดล้อม และช่วยกันดูแลธรรมชาติ ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งรอบตัว และสร้างเป็นอาชีพได้
นายวันชัย สุขเกษม นักวิชาการ 5 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กล่าวว่า อพวช. เดินทางนำสัตว์สตาฟใส่กล่องเพื่อเคลื่อนที่จัดแสดงทั่วประเทศ โดยการดูแลรักษาสัตว์สตาฟ ดูแลเรื่องอุณหภูมิ 25 องศา อากาศถ่ายเทสะดวก งดอยู่ในพื้นที่ร้อนเพราะตัวอย่างอาจแตกได้ ต่อมาเรื่องของแสง ควรงดพื้นที่แสงเพราะอาจทำสีของตัวอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ต่อมาสุขภาพของเจ้าหน้าที่ใช้สารเคมีที่ไม่รุนแรงมากเน้นการป้องกันและปลอดภัย และสุดท้ายคือแมลงกินซากอาจกัดกินเรื้อด้านในกินถึงกระดูก ต้องตรวจเช็คทุก 3 เดือน หากพบร่องรอยแมลงกินซากต้องแช่ตู้เย็น -20 องศา ทั้งนี้ซากสัตว์ที่ได้รับความร่วมมือจากรัฐ และเอกชน อาทิ โรงพยาบาลสัตว์ สวนสัตว์ เนื่องจากสัตว์ป่าคุ้มครองเราไม่สามารถครอบครองได้ และไม่ส่งเสริมการซื้อขายสัตว์
ด้านผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การร่วมบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ตรงตามนโยบาย ด้านจิตวิญญาณแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น (Spiritual)เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Collaboration-Coordination Projects)ปลูกฝังและยกระดับจิตสำนึกในการมุ่งประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้ง (KKU First) เพื่อเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาแต่ละคณะ ก่อให้เกิดความก้าวหน้าและเกิดคุณค่าร่วมกันของมหาวิทยาลัย รวมทั้งตรงตามนโยบาย ด้านประชาคม หรือ ผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัย (People) ในการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education transformation) พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกอายุ
ผศ.ดร.เพ็ญประภา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการจัดแสดงนิทรรศการอยู่ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด – 19 อย่างรัดกุม ตั้งแต่คัดรอง วัดอุณภูมิ มีพรมสเปย์น้ำยาฆ่าเชื้อ ครอบครัวเดียวดันเดินด้วยกัน ไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนเข้าชมแต่ละโซน ติดแผ่นกันความสกปรกในจุดสัมผัสที่สำคัญ เช่น ปุ่มลิฟท์ ทุกโซนมีเจลล้างมืออัตโนมัติ ส่วนของแม่บ้านทำความสะอาดห้องน้ำทุกชั่วโมง รับรองความปลอดภัยได้เพราะเราทำอย่างต่อเนื่อง
“การบริการของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะให้ผู้เข้าร่วมชมได้รับความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งเป็นโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่นในภาวะวิกฤติกับการรับมือเชื้อไวรัสโควิด – 19 หลังจากเราปิดไปนาน ๆ ครอบครัวเองอึดอัดไปเที่ยวที่อื่นอาจไม่ปลอดภัยแต่มาที่เราปลอดภัยแน่นอน ปลอดภัยด้วยได้ความรู้ด้วย สนุกสนานเพลิดเพลินเป็นที่พักผ่อนของครอบครัว อุ่นใจ ปลอดภัยแน่นอน” ผศ.ดร.เพ็ญประภา รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าว
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าว ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 โดยนิทรรศการเรื่อง คืนชีวิตให้ซากสัตว์ (Taxidermy) จะจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2563 – 6 สิงหาคม 2564 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดทำการเวลา 09.30 -19.30 น. หยุดทุกวันจันทร์ อัตราค่าบริการ เด็ก 10 บาท นักเรียน นักศึกษา 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพ.สธ.- มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพ.สธ.- มหาวิทยาลัยขอนแก่น เลขที่ 123 ริมบึงสีฐานฝั่งทิศตะวันตก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40002 หมายเลขติดต่อภายใน 45596 โทรศัพท์ 0-4300-9700 ต่อ 45596 มือถือ 094-278-4222 โทรสาร 0-4320-2155.