สำนักข่าว: Linetoday /อ้างอิงจาก Manager online
URL:https://today.line.me/th/pc/article/%E2%80%9C%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E2%80%9D+%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2+%E0%B8%A1%E0%B8%82+%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3+%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84+2+%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3-P70W30
วันที่เผยแพร่: 17 มิ.ย. 2563
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดย ดร.สุวิทย์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนและชื่นชม อว.ในการดำเนินงาน “โครงการ อว. สร้างงาน” ที่เป็นการจ้างงานบุคคลทั่วที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 “โครงการยุวชนสร้างชาติ” ที่เป็นการนำนักศึกษาและบัณฑิตลงไปทำงานกับชุมชน และการนำบีซีจีโมเดลลงไปพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่
หลังจากนี้ อว.ยังมีนโยบายต่อเนื่องคือการ ปรับปรุง-เพิ่ม-พัฒนาทักษะให้กับนักศึกษา บัณฑิต และบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปประกอบอาชีพที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายในโลกหลังโควิด-19 ที่สำคัญการขับเคลื่อนประเทศหลังจากนี้ตนยังเห็นว่าต้องนำหลักการทำงาน 3 ประการมาใช้ ได้แก่ 1.สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมไทยสู่โลก 2.เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ 3.น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้บีซีจีโมเดลร่วมกับการบริหารจัดการที่ดี และความร่วมมือทุกภาคส่วน จึงจะสามารถฟื้นฟูและนำพาประเทศให้รอดพ้นวิกฤตได้
ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า อีสานมีทั้งโอกาสและข้อจำกัดเฉพาะของภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำ” ซึ่งตนได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำของอีสานอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ตนยังขอให้ต่อยอดการดำเนินงาน อีสาน 4.0 เช่น การแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ในตับ การพัฒนาโปรตีนจากพืช ฯลฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอีสานอีกด้วย
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. กล่าวเสริมว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่เป็นประโยชน์มากมาย อาทิ ม.ขอนแก่น เสนอดึงภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน เช่น เทศบาลส่วนท้องถิ่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และมูลนิธิต่างๆ มาร่วมกันในงานตามนโยบายของกระทรวง โดยเฉพาะโครงการ อว. สร้างงาน และโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่พร้อมทำทันที 300 ตำบล ส่วน ม.กาฬสินธุ์ หลังจากดำเนินการตามนโยบายจ้างงานของ อว.ระยะที่ 1 ไปแล้ว 1 เดือน มีข้อสังเกตเรื่องการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่เมื่อแรกสมัครโครงการจ้างงานยังไม่ได้รับการพิจารณาเยียวยา แต่กลับได้รับการพิจารณาในภายหลัง ถือเป็นการซ้ำซ้อนกับเงินที่ได้จากการจ้างงานของ อว.
ด้าน ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ขอเสนอปรับ สหกิจศึกษา เป็น สหกิจสร้างชาติ ให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านในระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ได้ทำโครงการ “นักบริบาลของพ่อ” ร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้แก่บุคคลากรที่ต้องการเพิ่มเติมความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วย และมีการทำงานแบบสหสาขาวิชา ร่วมกับชุมชนและเทศบาล ใช้งบประมาณของท้องถิ่น โดยขอให้กระทรวง สนับสนุนงบวิจัยแทนการสนับสนุนโครงการจ้างงานโดยตรง