มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2568 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี เป็นประธาน มอบรางวัลแก่ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นในสาขาต่าง ๆ รวม 25 ราย และ 1 องค์กร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสืบสานศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
วันที่ 2 เมษายน 2568 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มพิธีเวลา 13.30 น. โดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อด้วยการลำถวายพระพรโดย หมอลำ ดร.ฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2536 และการเป่าแคนโดย นายพงศพร อุปนิ (อ้น แคนเขียว)
โครงการมอบรางวัลศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์เป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสืบสานและเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมสู่เครือข่ายชุมชนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนสร้างความร่วมมือทางวิชาการและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสนับสนุนให้บุคคลและองค์กรเหล่านั้นสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ในพิธีมอบรางวัล ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ ตัวแทนศิลปินมรดกอีสานประจำปี 2568 กล่าวแสดงความรู้สึกว่า “ไม่ว่าจะเป็นคนอีสาน คนไทย ชาวขอนแก่น หรือชาวภูไท แต่ศิลปะและวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมจะเป็นตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ว่าพวกเราคือใคร ที่สำคัญศิลปินไม่ได้ทำงานเพื่อแข่งขันกับใคร แต่ทำขึ้นมาในมิติของวิถีและลีลาชีวิตของมนุษย์ในสังคม ฉะนั้นศิลปะและวัฒนธรรมจึงมีหน้าที่บอกว่าพวกเราคือใคร”
ท่านยังเน้นย้ำว่า “ศิลปินไม่ได้เป็นคนที่หลุดลงมาจากฟ้าหรือผุดขึ้นมาจากดิน แต่เป็นคนที่ถูกหล่อหลอมจากสังคมและวัฒนธรรม เราเป็นผลผลิตของสังคมวัฒนธรรมอีสาน ดังนั้นผลงานศิลปะที่ปรากฏต่อสายตาของคนในท้องถิ่น คนในชาติ คนในโลก ก็คือผลงานศิลปะ ผลงานวัฒนธรรมของสังคมชาวอีสานร่วมกัน การจัดงานในวันนี้ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มอบรางวัลอันทรงคุณค่านี้ ซึ่งเป็นมากกว่ากำลังใจ แต่ยังเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ศิลปินสร้างสรรค์นั้นมีคุณค่า และเป็นการส่งต่อศิลปะพื้นถิ่นของชาติไปยังเยาวชนรุ่นต่อไป เนื่องว่าการที่มีรากทางวัฒนธรรม คือเสน่ห์และความมั่นคงที่อะไรก็ลบไม่ได้ รางวัลนี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ค้ำจุนให้เกิดการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป และทำให้ศิลปินที่ได้รับรางวัลไม่รามือ”
สำหรับผู้ได้รับโล่เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน ประจำปี 2568 มีดังนี้
อมรศิลปินมรดกอีสาน มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ 1 ท่าน ได้แก่ นายเลิศ ศรีโชค (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง)
สาขาทัศนศิลป์มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ 2 ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ เสาว์คง (จิตรกรรมไทยร่วมสมัย) และผู้ช่วยศาสตราจารย์คเณศ ศีลสัตย์ (จิตรกรรมร่วมสมัย)
สาขาวรรณศิลป์มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) และนายชูเกียรติ ฉาไธสง (วรรณกรรมร่วมสมัย)
สาขาศิลปะการแสดง มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ 10 ท่าน ได้แก่
* นายจรัส ลาดนอก (หมอลำจรัส ลิ้นระนาด, ลำกลอนทำนองพุทไธสง)
* นางทุมมา ปะกิระเณย์ (หมอลำปทุมทิพย์ ศรีทอง, ลำเรื่องต่อกลอนทำนองกาฬสินธุ์)
* นายสุวิทย์ สารเงิน (อ้ายเซียงจ่อย หมอลำไทเลย, ลำแมงตับเต่าไทเลย)
* นายภักดี พลล้ำ (ลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น)
* นายสุพัฒน์ บัวนุภาพ (หมอลำสุพัฒน์ เสียงทอง, ลำกลอนทำนองขอนแก่น)
* นายยิ่งยง บัวงาม (ยิ่งยง ยอดบัวงาม, ขับร้องเพลงลูกทุ่ง)
* นางอำนวย จันโทสี (เดือนเพ็ญ อำนวยพร, ลูกทุ่งหมอลำ)
* นายปรมินทร์ พุทธโคตร (อาวแท็กซี่, ตลกลูกทุ่งอีสาน)
* นางปุณณภา แก้วไทรเลิศ (รสริน จันทรา, นักแสดง)
* นายชัยบดินทร์ สาลีพันธ์ (ฟ้อนภูไทเรณู)
สำหรับผู้ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ประจำปี 2568 มีดังนี้
สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ได้แก่ นางเสงี่ยมจิต จันทร์บุญ (ผ้าทอลายขิด)
สาขาการแพทย์หรือเภสัชกรรมแผนไทย นวดไทย หรือสปา ได้แก่ นายพรมมา จันทะแสน (แพทย์แผนไทย)
สาขานิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นายจีระศักดิ์ ตรีเดช
สาขาผู้ประกอบการชุมชน กลุ่มชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ นายสวาท อุปฮาด (ธุรกิจภูมิปัญญาอาหารอีสาน)
สาขาศิลปกรรม มี 6 ท่าน ได้แก่
* นายสังคม ทองมี (ทัศนศิลป์)
* นางทองปน แทนสา (หมอลำทองปน จันทร์คำภา, ลำกลอนทำนองพุทไธสง)
* นางนันทนา การเกษม (หมอลำนันทนา แก้วเสด็จ, ลำกลอนประยุกต์)
* นายสมนึก ชื่นนิรันดร์ (ยายหวึ่ง ใจเกินร้อย, ตลกหมอลำ)
* นายพีรพัฒน์ สวัสดิ์มูล (พี สะเดิด, ขับร้องเพลงลูกทุ่ง)
* นายพงศพร อุปนิ (อ้น แคนเขียว, ดนตรีพื้นบ้านอีสาน แคน)
สาขาภาษาและวรรณกรรม มี 2 ท่าน ได้แก่ พระครูวิเวกธรรมธารี (พวงพิด ธมฺมธโร, วรรณกรรมพุทธศาสนา) และ นายเมตต์ เมตต์การุณ์จิต (ภาษาถิ่นโคราช)
สาขาศาสนาและประเพณี ได้แก่ พระพิพัฒน์วชิราคม วิ. (เจริญ ฐานยุตฺโต)
สาขาอาหารและโภชนาการ ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ (ออกแบบอาหาร)
สาขาสื่อสารวัฒนธรรม ได้แก่ นิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน”
การมอบรางวัลนี้ถือเป็นการต่อยอดแผนงานด้านศิลปวัฒนธรรมควบคู่ไปกับแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายชัดเจนและสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทยและสังคมนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีและการชี้นำสังคม และการบริการวิชาการเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว: รวิพร สายแสนทอง
ภาพ: ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
ชมภาพกิจกรรมเต็มๆได้ที่นี่ คลิก