คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์ที่ได้รับรางวัลจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในพิธีมอบรางวัลเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ณ ห้อง Auditorium อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Science Park) โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรจากหลากหลายสาขาเข้าร่วมงานเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จทางวิชาการ
รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ระดับเพชร ประจำปี 2567 (กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ)
อ.ดร.ทพ.พิธิวัต เอื้อสุวรรณ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ระดับเพชร ประจำปี 2567 กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “Mechanical and optical characterization of high yttria partially stabilized zirconia infiltrated with a novel silica-alumina glass upon different tempering processes” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ ศาสตราจารย์ ดร.ทพ.นิวัตร จันทร์เทวี
โดยผลงานดังกล่าว เป็น 1 ใน 5 ผลงานที่เข้ารับรางวัลระดับเพชร ในปีนี้ เป็นผลงานวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพโดดเด่นในระดับปริญญาเอก ซึ่งสะท้อนถึงความทุ่มเทในการวิจัย การนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการทันตแพทยศาสตร์ รวมถึงคุณูปการต่อสังคมและวงการวิชาการ
รางวัลเชิดชูเกียรติ หลักสูตรสาขาวิชาร่วม (หลักสูตรดนตรีบำบัด) ประจำปี 2567
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.สุวดี เอื้ออรัญโชติ อาจารย์สาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ หลักสูตรสาขาวิชาร่วม (ดนตรีบำบัด) ประจำปี 2567 โดยผลงานดังกล่าว เป็น 1 ใน 5 ผลงานที่เข้ารับรางวัล ในปีนี้ โดยหลักสูตรดังกล่าว เป็นศาสตร์ที่นำดนตรีมาใช้เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาวะของผู้ป่วย โดยมีบทบาทสำคัญต่อทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจ การได้รับรางวัลนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของอาจารย์ในการบูรณาการองค์ความรู้และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อวงการแพทย์และทันตแพทย์
งาน GS KKU Fair 2025 ดังกล่าว จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเติบโตอย่างยั่งยืนด้านบัณฑิตศึกษา เพื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นและประเทศ” (Grad for Growth) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมบัณฑิตศึกษา พร้อมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าประเภทต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มุ่งเน้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ การวิจัย และพัฒนาให้เกิดคุณค่าในทุกมิติ จนมีผลงานที่โดดเด่น และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับการเสวนา แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า และเครือข่ายวิชาการ
คณะทันตแพทยศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์ทั้งสองท่าน ขอให้ความสำเร็จครั้งนี้เป็นแรงบันดาลใจในการวิจัย พัฒนาหลักสูตร และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาและวงการทันตแพทยศาสตร์ต่อไป