มข. ยกระดับความมั่นคงปลอดภัย จัดอบรมประจำปี 2568 เตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว-ภัยพิบัติ

          เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กองป้องกันและรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมทฤษฎีและการปฏิบัติด้านการรักษาความปลอดภัย จราจร การป้องกันสาธารณภัย และทดสอบร่างกายกำลังพล ประจำปีงบประมาณ 2568 (ครั้งที่ 1/2568) โดยมี รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดกิจกรรม  นายมรกต สุบิน รักษาการแทนผู้อำนวยการกองป้องกันและรักษาความปลอดภัย กล่าวรายงาน ในการนี้มีบุคลากรจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน ณ ศาลาพระราชทานปริญญาบัตร (เดิม)

          โครงการนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านความปลอดภัย สร้างเครือข่ายการป้องกันและรักษาความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่มหาวิทยาลัย นำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น

          นายมรกต สุบิน รักษาการแทนผู้อำนวยการกองป้องกันและรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า “ภารกิจการรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัยมีความสำคัญและท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน บุคลากรของเราจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และรูปแบบภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป การอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น การเจรจาต่อรอง การระงับเหตุ และการใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาคมมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจในการปฏิบัติหน้าที่”

          ด้าน รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม กล่าวในพิธีเปิดว่า การสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เราตระหนักดีว่าความปลอดภัยเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย กองป้องกันและรักษาความปลอดภัยจึงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษา บุคลากร และผู้มาเยือน การพัฒนาบุคลากรผ่านการฝึกอบรมเช่นนี้ไม่เพียงช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Smart University) ที่มีระบบบริหารจัดการความปลอดภัยที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

          “โครงการนี้ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรเกี่ยวกับแผนเผชิญเหตุใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย และแผ่นดินไหว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าในวันนี้เองก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา ส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯ และอาคารสูงในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เหตุการณ์เช่นนี้ย้ำเตือนให้เราเห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การให้ความรู้แก่บุคลากรของเราจะช่วยให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยได้อย่างมีมาตรฐาน รวดเร็ว และปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ด้วยการฝึกอบรมและซักซ้อมแผนรับมืออย่างสม่ำเสมอ”

          กิจกรรมในโครงการประกอบด้วยภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน เริ่มตั้งแต่การวัดความดันโลหิตและรับคำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพร่างกายโดยบุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยปฐมภูมิ 123 รพ.ศรีนครินทร์ การทดสอบร่างกายที่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ วิ่ง 800 เมตร (ชาย) วิ่ง 400 เมตร (หญิง) ดันพื้น จำนวน 10 ครั้ง (ชาย) และลุก-นั่ง จำนวน 25 ครั้ง (ชาย) นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายในหัวข้อ “การเจรจาต่อรอง” โดย ร.ต.อ.สุนทร ย่อยซา วิทยากรจาก สภ.เมืองขอนแก่น และการฝึกปฏิบัติการ “การเข้าระงับเหตุ” ซึ่งประกอบด้วยการเจรจาต่อรอง การใช้โล่ ไม้ตะบอง การใช้ตัว (กระบอง) และการใช้กุญแจมือ (พันธนาการ) รวมถึงการตรวจค้น 

          ผลที่คาดว่าจะได้รับสำหรับโครงการนี้มุ่งหวังให้เป็นการยกระดับความรู้และทักษะของบุคลากรด้านความปลอดภัย การเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2568-2571 ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 7 “สร้างมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่” (Livable University) โดยเฉพาะในเป้าประสงค์การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะที่มีการบริหารจัดการความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน