จากกรณีเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่สามารถรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยรวมถึงภายในอาคารสูงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยล่าสุดพบว่ามีถึง 57 จังหวัดในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน เกิดความเสียหายใน 14 จังหวัด และมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดแพร่ และจังหวัดปทุมธานี

นอกจากความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมอย่าง “น้ำผุดทัพลาว” อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งแต่เดิมมีลักษณะเป็นแหล่งน้ำใสสะอาด สวยงามที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน แต่หลังเกิดแผ่นดินไหวพบว่าน้ำมีสีขุ่นผิดปกติ สร้างความกังวลให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว
รศ. ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ให้ข้อมูลถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำผุดทัพลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีชัยภูมิและเป็นมรดกธรณีที่ทรงคุณค่าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า “จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่เรียกว่า Mandalay Earthquake 2025 ส่งผลกระทบให้น้ำผุดทัพลาวมีความขุ่นและสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพปกติอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางธรณีวิทยา และไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวที่สามารถฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้เองตามธรรมชาติ”
“เมื่อเกิดแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงส่งผลให้ดินและตะกอนใต้ดินเกิดการเคลื่อนตัวและผสมกับน้ำใต้ดิน ทำให้อนุภาคดินเหนียว ทราย และตะกอนละเอียดที่สะสมอยู่ใต้ดินถูกพัดพาขึ้นมาตามช่องว่างระหว่างเม็ดดินและไหลขึ้นมาพร้อมกับน้ำที่ผุดออกมา ทำให้น้ำมีลักษณะขุ่นผิดไปจากสภาพปกติ” รศ. ดร.วิมลทิพย์ อธิบาย
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเกิดจากการเกิด “ดินเหลว” หรือ Soil Liquefaction ซึ่งมักเกิดขึ้นในชั้นทรายอิ่มน้ำที่มีความหนาแน่นต่ำ เมื่อได้รับแรงสั่นไหวอย่างรุนแรง ดินจะสูญเสียความแข็งแรงและมีสภาพคล้ายของเหลวชั่วคราว ทำให้ตะกอนดินฟุ้งกระจายและถูกดันขึ้นมาตามช่องทางของน้ำใต้ดิน
“อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำผุดขุ่นคือการเปลี่ยนแปลงของแรงดันรูพรุนหรือ Pore Water Pressure อย่างฉับพลัน แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวสามารถเปลี่ยนแปลงระดับแรงดันในชั้นน้ำบาดาลอย่างรวดเร็ว ทำให้แรงดันที่เพิ่มขึ้นกะทันหันนี้ดันน้ำใต้ดินขึ้นสู่ผิวดินพร้อมพัดพาตะกอนละเอียดขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนรุนแรง และจะค่อยๆ กลับสู่สภาพปกติได้เมื่อตะกอนตกตะกอนและแรงดันใต้ดินกลับสู่สมดุล” รศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวเสริม

ด้านลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่น้ำผุดทัพลาว ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะและโดดเด่น โดยมีภูเขาหินปูนของหมวดหินผานกเค้า (หินปูนเนื้อดิน) โผล่ปรากฎเป็นเทือกเขาและภูมิประเทศแบบคาสต์ทางทิศตะวันตก ซึ่งหินปูนเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นชั้นหินอุ้มน้ำที่มีช่องว่างและโพรงจำนวนมาก ทำให้น้ำใต้ดินสามารถไหลผ่านไปได้จนระดับน้ำใต้ดินไปสัมผัสกับหินตะกอนเนื้อประสมของหมวดหินหัวนาคำ (หินดินดานและหินทรายแป้ง) ที่เป็นพื้นที่ราบทางทิศตะวันออกและเป็นชั้นหินทึบน้ำที่ไม่มีช่องว่างให้น้ำบาดาลไหลผ่าน น้ำบาดาลจึงไหลผุดขึ้นมาด้านบนตามช่องว่างหรือระนาบแนวสัมผัสระหว่าง 2 หมวดหิน ปรากฎเป็นน้ำผุดทัพลาวและแหล่งน้ำผุดอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอคอนสาร
นอกจากนี้ข้อมูลล่าสุดจากนายวุฒิศักดิ์ คุ้มหมู่ หัวหน้าสวนรุกขชาติน้ำผุดทัพลาว เผยว่า ปัจจุบันความขุ่นของน้ำได้ลดลงจนเกือบใกล้เคียงกับสภาพปกติแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายทางวิชาการที่ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเพียงผลกระทบชั่วคราวจากแรงสั่นสะเทือนใต้พิภพ และธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้โดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เดินหน้าพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวแบบเรียลไทม์ “KKU Emergency Alert” ผ่าน Google Chat โดยฝ่ายการศึกษาและดิจิทัลได้นำระบบอัจฉริยะ KKU IntelSphere มาประยุกต์ใช้ในการดึงข้อมูลจาก U.S. Geological Survey เพื่อแจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในรัศมี 2,000 กิโลเมตรจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยตั้งค่าระดับความรุนแรงที่ต้องการแจ้งเตือนไว้ที่ 4.5 แมกนิจูด ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลและการแจ้งเตือนได้โดยการเข้าร่วมระบบผ่านการเข้าไปที่หน้าเมล KKU จากนั้นเลือก “Chat” และคลิก “Browse Spaces” แล้วค้นหาด้วยคำว่า “Emergency” หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Chat ลงในโทรศัพท์มือถือเพื่อรับการแจ้งเตือนได้สะดวกยิ่งขึ้น
ผู้สนใจสามารถ ติดตามข่าวสาร ด้านเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ที่นี่ คลิก