ผลงานวิจัยจาก ผศ.อุมาวดี เดชธำรงค์ นักวิจัยจากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับทุนวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านตลาดทุนรุ่นแรก จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (กองทุน CMDF) เพื่อพัฒนาแบบจำลอง AI ที่สามารถทำนายราคาหุ้นกลุ่ม ESG (Environmental, Social, Governance) ได้อย่างแม่นยำและโปร่งใส เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทรนด์การลงทุนในตลาดทุนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยนักลงทุนให้ความสำคัญกับ “หุ้นยั่งยืน” หรือหุ้นกลุ่ม ESG มากขึ้น ซึ่งเป็นการพิจารณาปัจจัยทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ควบคู่ไปกับผลประกอบการทางการเงิน นอกจากนี้ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลกยังยืนยันว่าธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพการเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยยังขาดเครื่องมือที่ช่วยนักลงทุนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะแบบจำลองที่ทำนายราคาหุ้นแบบโปร่งใสและอธิบายได้

จากความท้าทายดังกล่าว ผศ.อุมาวดี เดชธำรงค์ จากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้พัฒนาโครงการวิจัย “การประยุกต์ใช้การเรียนรู้ของเครื่องในการพยากรณ์ราคาหุ้นยั่งยืน: การพัฒนาแบบจำลองที่มีความโปร่งใสและอธิบายได้สำหรับตลาดทุนไทย” ที่มุ่งพัฒนา AI ที่สามารถอธิบายเหตุผลและปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ทำนายราคาหุ้น ESG ได้อย่างแม่นยำ โดยแนวคิดดังกล่าวได้รับความสนใจและยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับทุนวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านตลาดทุนรุ่นแรก ในพิธีลงนามสัญญาซึ่งจัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (กองทุน CMDF) ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

ผศ.อุมาวดี เล่าถึงกรอบความคิดของโครงการวิจัยนี้ว่า ทีมวิจัยเล็งเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาดทุนไทย จึงได้รวบรวมความเชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ ทั้งด้านการเงิน การลงทุนยั่งยืน และปัญญาประดิษฐ์ มาพัฒนาแบบจำลองที่มีทั้งความแม่นยำ โปร่งใส และอธิบายได้ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในหุ้น ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราได้วางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของทุนและโครงการ โดยมีขั้นตอนสำคัญดังนี้ ลำดับแรก เราได้จัดตั้งทีมงานหลักที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การลงทุนยั่งยืน และปัญญาประดิษฐ์ พร้อมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน ซึ่งการมีทีมที่มีความหลากหลายทางความเชี่ยวชาญนี้ช่วยให้เราสามารถมองปัญหาได้รอบด้าน ลำดับที่ 2 เป็นการ รวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขอข้อมูลราคาหุ้น ปริมาณการซื้อขาย และคะแนน ESG ย้อนหลัง 5 ปี รวมถึงการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ ESG จากแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ ลำดับที่3 เป็นการพัฒนาและทดสอบแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องในรูปแบบต่าง ๆ โดยเน้นที่การบูรณาการข้อมูล ESG และการพัฒนากลไกการอธิบายผล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ”

งานวิจัยนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2025 และให้บริการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2026 ภายใต้ชื่อ “ThaiESGPredict: ระบบอัจฉริยะเพื่อการพยากรณ์หุ้นยั่งยืนไทยที่โปร่งใสและอธิบายได้” โดยมีความหมายคือ
“Thai” เน้นว่าเป็นระบบสำหรับตลาดทุนไทยโดยเฉพาะ
“ESG” แสดงถึงการบูรณาการปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
“Predict” สื่อถึงฟังก์ชันหลักคือการพยากรณ์ราคาหุ้น
รวมความหมายว่า “โปร่งใสและอธิบายได้” สะท้อนจุดเด่นของแบบจำลองที่สามารถอธิบายการตัดสินใจได้ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุน
ผศ.อุมาวดี ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเป็นผู้รับทุนรุ่นแรกถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง “การเป็นผู้รับทุนรุ่นแรกไม่เพียงเป็นการยืนยันคุณค่าของแนวคิดเรา แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน รวมถึงเป็นการวางมาตรฐานให้กับผู้รับทุนรุ่นต่อไป”

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวในพิธีลงนามว่า การให้ทุนวิจัยครั้งนี้เป็นปีแรกที่มีการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดทุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านตลาดทุน โดยโครงการที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 10 โครงการจะใช้ระยะเวลาวิจัย 2 ปี เพื่อนำผลงานไปพัฒนาต่อยอดในอนาคต

ด้านนายจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน เน้นย้ำความสำคัญของการสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า “นักวิจัยรุ่นใหม่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์แนวคิดและนำเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ตลาดทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือครั้งนี้จึงไม่เพียงสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่แข็งแกร่ง แต่ยังเป็นการวางรากฐานการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน”
ในช่วงท้าย ผศ.อุมาวดี ยังได้ฝากคำแนะนำสำหรับนักวิจัยที่สนใจทำงานวิจัยลักษณะนี้ว่า “นักวิจัยควรมองหาโจทย์วิจัยที่ตอบสนองความต้องการจริงของตลาดและสังคม นำความเชี่ยวชาญทางวิชาการมาเชื่อมโยงกับความต้องการของภาคธุรกิจ และที่สำคัญคือการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เพราะโลกปัจจุบันต้องการการทำงานข้ามศาสตร์มากขึ้น นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง ไม่ใช่เพียงแค่การตีพิมพ์ผลงานเท่านั้น แต่ต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้งานวิจัยประสบความสำเร็จ”
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : ผศ.อุมาวดี เดชธำรงค์ / กระทรวง (อว.)