ผศ. ดร.สุมณฑา เกษมวิลาศ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้แผนงานย่อย N44 (S4P21) พัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีสมรรถนะและความรู้ ฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึง Coding โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ในการจัดกิจกรรม “BOOTCAMP TRAINING & HACKATHON” ในโครงการ เส้นทางสู่จักรวาลข้อมูล: การพัฒนากำลังคนด้านการเขียนโปรแกรมสู่การเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล (Journey to Data Universe: Empowering Coding Professionals in Data Analyst) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Data Universe
การแข่งขัน Hackathon จัดขึ้นภายใต้ธีม “Climate Change PM 2.5” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมวิทยวิภาส 1 อาคารวิทยวิภาส มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ. ดร.สุมณฑา เกษมวิลาศ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยผู้ร่วมวิจัยประกอบไปด้วย รศ. ดร.วรารัตน์ สงฆ์แป้น, ผศ. ดร.ชิตสุธา สุ่มเล็ก และ อ.ธนพล ตั้งชูพงศ์ จากวิทยาลัยการอคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ผศ. ดร.ศุภชานันท์ วนภู และ ดร.เจนจีรา อักษรพิมพ์ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจด้านเทคโนโลยีข้อมูลเป็นจำนวนมาก
ภายในงานเริ่มต้นด้วยพิธีเปิดและกล่าวต้อนรับโดย รศ. ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ตามด้วยการบรรยายพิเศษหัวข้อ “AI กับการวิเคราะห์ข้อมูล” จาก ผศ. ดร.ภาคภูมิ บวบทอง ที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล
ต่อมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ “BEYOND THE DATA UNIVERSE” : จากนักวิเคราะห์ข้อมูลสู่จักรวาลข้อมูล ค้นพบโอกาสใหม่ในโลกของข้อมูล ซึ่งเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับศักยภาพของข้อมูลและ AI โดยมี ผศ. ดร.สุมณฑา เกษมวิลาศ เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำจากภาคเอกชนและภาคการศึกษา ได้แก่
- ดร.วินน์ วรรณิติกุลชัย (Founder & CEO, BOTNOI GROUP)
- คุณกิตติรักษ์ ม่วงมิ่งสุข (กรรมการผู้จัดการ บริษัทคลัสเตอร์คิท จำกัด)
- ผศ. ดร.ภาคภูมิ บวบทอง (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา)
- รศ. ดร.วรารัตน์ สงฆ์แป้น (วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ในช่วงบ่ายเป็นเวทีนำเสนอของผู้เข้ารอบสุดท้ายในกิจกรรม BOOTCAMP TRAINING & HACKATHON ประกอบด้วย ทีมเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา อายุระหว่าง 16-24 ปี ที่ได้คะแนนสูงสุด 50 คน จากการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 คนทั่วประเทศไทย เข้าสู่ 10 ทีมสุดท้าย โดยแต่ละทีมนำเสนอแนวคิดการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดการกับฝุ่น PM 2.5 พร้อมรับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
พิธีปิดได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน พร้อมมอบรางวัลให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้
โดยรางวัลชนะเลิศ 20,000 บาท ได้แก่ทีม “พวกเรา ไม่ได้จะ…..” ประกอบไปด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นางสาวปวิชญา เชาวลิต นายภูมิพิพัฒน์ มะลิมาตร์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย นายนัทภพ ศรีภักดี และนายภาณุวัฒน์ พลซา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม “ดมฝุ่น” ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท ประกอบไปด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายญาณาธร บุญลือ นายธนภัทร สมานชัย นายพสิษฐ์ ผลวิเศษพรสุข นายภูเบศ จิตภิลัย และนายสุรพจน์ หินศรี
และทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 ทีม ได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท ได้แก่ ทีม “Airflow” ประกอบไปด้วยนักเรียนจากโรงเรียนนครสวรรค์ นางสาวจิตาภา ลิมป์ลิปิการ นักเรียนจากโรงรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา นายภูมิ คงคารักษ์ นายอดิศร เจษฎาอภิมุข และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายไพโรจน์ ฉ่องสวนอ้อย และ นายศิฆรินทร์ อุปจันทร์ และทีม “Sunflower” ประกอบไปด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รสสุคนธ์ คันธะวงค์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายกิตติธัช ขจัดมลทิน นายธีรภัทร สนิทชน นางสาวเพ็ญนภา แก้วมูลเมือง และนางสาวสุนิตรา เหล่าชัย
โครงการ Data Universe เป็นเวทีสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านข้อมูล เสริมสร้างแนวคิดสร้างสรรค์ ทางด้านวิทยาการข้อมูล โดยการสร้างเวทีในการแข่งขันในการเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติจริงบนโจทย์ปัญหาจริง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและความพร้อมในการทำงานในอนาคต ทำให้เยาวชนไทยได้รู้จักเรียนรู้ พร้อมลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับวิทยาการข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมในตลาดแรงงานในอนาคต และสร้างศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมและการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนของประเทศไทย อันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สนใจด้านเทคโนโลยีข้อมูลนำความรู้ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ