นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข. จัดค่ายมนุษย์ – สังคม ครั้งที่ 9 จุดประกายความคิดเด็กรุ่นใหม่ สู่ความหลากหลายของสังคม

สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัด “โครงการค่ายมนุษย์-สังคม ครั้งที่ 9”  เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล  มุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาทักษะให้กับเยาวชน

 

สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการค่ายมนุษย์ – สังคม ครั้งที่ 9 ประจำปีการศึกษา 2567 ณ โรงเรียนหาดคำบอนวัฒนา ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุรัตน์ เนาวรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งโรงเรียนหาดคำบอนวัฒนา เป็นโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองหนองคาย         จังหวัดหนองคาย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3  เมื่อวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

 

นายอนุรัตน์ เนาวรัตน์ (ผู้อำนวยการโรงเรียน)

โครงการค่ายมนุษย์ – สังคม ครั้งที่ 9 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด HUSO ออนซอน สะออนหนองคาย”  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้นักศึกษาได้แบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น โดยผ่านกระบวนการของการจัดค่ายอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากการเรียนรู้ชุมชนเป็นฐาน รวมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีกระบวนการคิดวิเคราะห์แบบองค์รวมและสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารศรี สอทิพย์ (รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์)

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในค่ายมนุษย์ – สังคม ครั้งที่ 9 ประกอบด้วย กิจกรรมฐานบำเพ็ญประโยชน์และพัฒนาภายในโรงเรียน (สร้างลาน BBL, วาดภาพในผนังอาคารเรียน, ทำความสะอาดภายในโรงเรียน ฯลฯ) กิจกรรมฐานสวัสดิการ (การประกอบอาหารให้กับชาวค่ายได้รับประทาน) กิจกรรมฐานศึกษาเรียนรู้ชุมชน ซึ่งมีทั้งการปั้นดิน ทำเหรียญโปรยทาน และสานตะกร้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวหนองคาย ที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ทำให้ชาวค่ายได้ “ออนซอนและสะออน” เมืองหนองคายอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ ชาวค่ายยังได้เยี่ยมชมทุ่งทานตะวัน แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ผู้นำชุมชนต้องการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลหาดคำ ทำให้ได้เรียนรู้และสัมผัสกับวิถีชุมชนมากยิ่งขึ้น และกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ของ HUSO CAMP ครั้งที่ 9 คือ กิจกรรมฐานวิชาการ และนันทนาการร่วมกับน้อง ๆ นักเรียน โดยนักศึกษาได้นำความรู้มาบูรณาการกับเกมนันทนาการเพื่อจุดประกายความคิดให้เด็กรุ่นใหม่ได้เปิดโลกกว้างในสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น และส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับน้อง ๆ นักเรียน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “พี่เทค น้องฮัก” ที่สร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และน้อง ๆ โรงเรียนหาดคำบอนวัฒนา ได้เรียนรู้ความหลากหลายและลดช่องว่างระหว่างวัย (Gap Generation) อีกด้วย

นวพล อิ่มใจ (โอเชียร์) นักศึกษาสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ชั้นปีที่ 3 ในฐานะประธานค่าย กล่าวว่า “การจัดค่ายครั้งนี้เป็นงานที่ท้าทายและยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ตัวเองเคยเผชิญมาก่อน เพราะไม่เคยมีประสบการณ์    ในค่ายลักษณะนี้ อีกทั้งยังไม่ถนัดในการสื่อสารกับผู้คน ทำให้รู้สึกกดดันไม่น้อย และต้องขอโทษเพื่อน ๆ ในแต่ละฝ่าย ที่อาจช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่ ทำได้เพียงดูแลด้านสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการ จัดค่าย ความรู้สึกที่ได้รับกลับมาเต็มไปด้วยความสุข การได้เห็นรอยยิ้มของทุกคนในกิจกรรมรอบกองไฟ ได้สัมผัสถึงความเหนื่อยล้า ที่มาพร้อมกับความสุขในกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ และได้ยินเสียงหัวเราะของน้อง ๆ นักเรียน ล้วนเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง ขอขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาสและคอยช่วยเหลือกันมาตลอด ทั้งสโมสรนักศึกษา พี่ ๆ ฝ่ายพัฒนานักศึกษา รวมถึงโรงเรียน ชุมชน และน้อง ๆ ลูกค่ายทุกคนที่ให้ความร่วมมือและสนใจในกิจกรรมครั้งนี้ ประสบการณ์ที่ได้รับจะเป็นบทเรียนสำคัญในการพัฒนาตนเองต่อไป”

นวพล อิ่มใจ (โอเชียร์) ประธานค่าย

ยศวดี ปลั่งกลาง (กาญจน์) นักศึกษาหลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 1 ในฐานะลูกค่าย ได้กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อค่ายว่า “นี่เป็นค่ายพัฒนาโรงเรียนค่ายแรกที่ดิฉันเคยเข้าร่วม เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ทำให้      ได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของการมีส่วนร่วม ในกิจกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาและการเติบโตของโรงเรียนและชุมชน การได้ไปค่ายครั้งนี้ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจและความทุ่มเทของทุกคน โดยเฉพาะพี่ ๆ สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาสิ่งที่ยังขาดหายไปในโรงเรียน แต่ละกิจกรรมมีประโยชน์มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น การบูรณาการการเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งการเสริมสร้างทักษะให้กับน้อง ๆ นักเรียน ในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้รู้จักใครหลายคน สนิทสนมกับทุกคนมากยิ่งขึ้น ได้เห็นอีกหลายมุมที่ยังไม่เคยได้เห็น ได้เปิดใจแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน จนรักใคร่สามัคคีกันเกินกว่าที่คาดหวังไว้ ความรู้สึกดีใจและภูมิใจจากการได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะของน้อง ๆ ซึ่งน้อง ๆ ยังไม่เคยได้รับประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้มาก่อน น้อง ๆ ดีใจและสนุกกันมาก ไม่อยากให้ช่วงเวลาพิเศษนี้หายไป น้ำตาแห่งความทราบซึ้งและประทับใจไหลยันช่วงเวลาสุดท้ายที่ได้บอกลา ค่ายนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าและจะคงอยู่ในความทรงจำของดิฉันและน้อง ๆ ตลอดไป”

ยศวดี ปลั่งกลาง (กาญจน์)

 

ข่าว: กิตติชัย กองแก้ว และพิชชาทร ปึ่งพรม

ภาพ: สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์