Active Shooter! สาธิต มข. จำลองสถานการณ์จริง “หนี ซ่อน เงียบ” ปฏิบัติการเรียนรู้เพื่อรอดจากเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียน

เหตุกราดยิง หรือ Active Shooter เป็นสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้ก่อเหตุมักไม่เลือกเป้าหมายและไม่จำกัดขอบเขต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส สร้างความสูญเสียแก่ครอบครัวผู้เคราะห์ร้าย ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) ภายใต้การดูแลของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและปลูกฝังทักษะชีวิตที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียน จึงร่วมมือกับ ชมรมผู้ปกครองและครู ฯ และศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุกราดยิง”

การอบรมจัดขึ้นในวันที่ 8 มกราคม 2568 ให้กับบุคลากรและนักเรียนทุกระดับชั้น โดยแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งในรูปแบบในพื้นที่และออนไลน์ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยให้แก่นักเรียนอย่างเป็นระบบ

ผศ.ดร.ศราวุธ จักรเป็ง รองคณบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียน ประธานเปิดกิจกรรม
ผศ.ดร.ศราวุธ จักรเป็ง รองคณบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียน ประธานเปิดกิจกรรม

ผศ.ดร.ศราวุธ จักรเป็ง รองคณบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยทีมผู้บริหารโรงเรียนและชมรมผู้ปกครอง โดยมีทีมวิทยากรจากศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 นำโดย พ.ต.ท.ธนพันธ์ จันทร์เทพ รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 และ ว่าที่ พ.ต.ท.จารุทรรศน์ ไชยวาส ผู้บังคับกองร้อย กองร้อยควบคุมฝูงชน กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 เป็นผู้ให้ความรู้และฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการ

ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และทักษะในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญ สอดคล้องกับปรัชญาของคณะศึกษาศาสตร์ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม การอบรมครั้งนี้จึงเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถประเมินสถานการณ์ ตัดสินใจ และตอบสนองได้อย่างเหมาะสม

อ.ธนะภัศล์ เฮ้าส์ทาคุณาพานิช รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษา (เสื้อชมพู ที่สองจากขวา)
อ.ธนะภัศล์ เฮ้าส์ทาคุณาพานิช รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษา (เสื้อชมพู ที่สองจากขวา)

อ.ธนะภัศล์ เฮ้าส์ทาคุณาพานิช รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษา ระบุว่า การรับมือเหตุกราดยิง “หนี ซ่อน เงียบ” สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา เราเน้นหลักปฏิบัติ “หนี ซ่อน เงียบ” เนื่องจากเด็กๆ ไม่สามารถเผชิญหน้ากับผู้ก่อเหตุได้เหมือนผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นการอบรมภาคทฤษฎี จึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้และวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุ ส่วนภาคปฏิบัติ เป็นการจำลองสถานการณ์ให้เด็กๆ ได้ฝึกซ้อม ซึ่งผลตอบรับดีมาก นักเรียนให้ความสนใจและมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น

อ.ไพทูล นารคร รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา(สูทน้ำเงิน)
อ.ไพทูล นารคร รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา(สูทน้ำเงิน)

อ.ไพทูล นารคร รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา เน้นย้ำว่า การฝึกซ้อม “หนี ซ่อน เงียบ” มีจุดประสงค์เพื่อให้ครูและนักเรียนเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิด สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงเรียนในการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

ดร.กวี จรุงทวีเวทย์ ประธานชมรมผู้ปกครองฯ
ดร.กวี จรุงทวีเวทย์ ประธานชมรมผู้ปกครองฯ

ขณะที่ ดร.กวี จรุงทวีเวทย์ ประธานชมรมผู้ปกครองฯ ระบุว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง (pilot project) ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและชุมชนในการสร้างความปลอดภัยให้แก่เยาวชน

ว่าที่พ.ต.ท.จารุทรรศน์ ไชยวาส ผู้บังคับกองร้อย กองร้อยควบคุมฝูงชน กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 วิทยากร
ว่าที่พ.ต.ท.จารุทรรศน์ ไชยวาส ผู้บังคับกองร้อย กองร้อยควบคุมฝูงชน กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 วิทยากร

ว่าที่ พ.ต.ท.จารุทรรศน์ ไชยวาส ผู้บังคับกองร้อย กองร้อยควบคุมฝูงชน กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 วิทยากร แนะนำขั้นตอนสำคัญในการเอาตัวรอด ประกอบด้วย:
1. หนีให้เร็วที่สุด โดยรีบออกจากพื้นที่เกิดเหตุทันที
2. หาที่ซ่อน กรณีไม่สามารถหนีได้
3. เตรียมพร้อมต่อสู้ หากไม่สามารถหนีหรือซ่อนได้
4. แจ้งเจ้าหน้าที่ พร้อมรายงานสถานการณ์และตำแหน่งผู้ก่อเหตุ
5. ช่วยเหลือผู้อื่นหากทำได้ โดยแนะนำทางหนีที่ปลอดภัย
ที่สำคัญ คือ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่อันตราย ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เพื่อลด ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น


การอบรมนี้นับเป็นก้าวสำคัญของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพัฒนาต้นแบบการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยสำหรับสถานศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและน่าอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ชมรมผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน สถานศึกษาที่สนใจสามารถติดต่อจัดอบรมได้ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4

ข่าว :  เบญจมาภรณ์  มามุข

ภาพ : โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง)

 

Scroll to Top