“กาลสักการ์ มหาเจติยัง” พาน้องใหม่ กาลพฤกษ์ช่อที่ 61 สักการะ พระธาตุพนม ฝากตัวเป็นลูกพระธาตุ หลานพระธรรม

เมื่อกาลพฤกษ์ช่อใหม่ถูกประดับไว้บนต้นสุวรรณกาลพฤกษ์เมื่อใด ย่อมเป็นสัญญาณว่า นักศึกษาใหม่ทุกคน ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว และเตรียมตัวเป็นช่อกาลพฤกษ์ที่พร้อมเบ่งบานต่อไปในอีกไม่ช้า สิ่งต่อไปที่รุ่นพี่จะมอบให้กับน้องใหม่ คือการพาไปรู้จักจิตวิญญาณของชาวมข. เป็นรากเหง้าเป็นแก่นที่พวกเราเคารพบูชา นั่นคือการพาน้องใหม่             ไปสักการะพระธาตุพนมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม 

 

จากความเชื่อบวกกับความศรัทธาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจึงนำมา ซึ่งการจัดโครงการที่ยิ่งใหญ่ในแต่ละปี

โครงการนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นสักการะพระธาตุพนม หรือที่เรารู้จักกันดีคือ “โครงการน้องใหม่ไหว้พระธาตุ” เป็นกิจกรรมประเพณี ที่องค์การนักศึกษาจัดขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ทางสถาบัน และการฝากตัวเป็นลูกพระธาตุ หลานพระธรรม เป็นข้าโอกาสแห่งองค์พระธาตุพนม ปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม พ.ศ.2567 ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม โดยมีนักศึกษาร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน

กาลสักการ์ มหาเจติยัง จึงเป็นกรอบแนวคิด สำหรับการจัดกิจกรรมโครงการน้องใหม่ไหว้พระธาตุ ในปีนี้

พรหมภพ วอหา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
พรหมภพ วอหา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

พรหมภพ วอหา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าถึงการจัดโครงการนี้ผ่านรายการ “รอบรั้วมข.” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น F.M.103 MHz. ว่า ปีนี้องค์การนักศึกษา จัดโครงการภายใต้แนวคิด “กาลสักการ์ มหาเจติยัง”  โดยคำว่า “กาล” สามารถสื่อได้ 2 ความหมาย คือ กาล ที่แปลว่า กาลเวลา กล่าวคือ ในห้วงเวลาแห่งความศรัทธา เหล่าลูกพระธาตุหลานพระธรรมแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้ร่วมเดินทางไปกราบนมัสการองค์พระธาตุพนม อันเป็นปูชนียสถานสำคัญที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมแห่งจิตใจและสติปัญญา การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นเหมือนวัฏจักรของชีวิต และการเชื่อมโยงรากเหง้าแห่งศรัทธาจากรุ่นสู่รุ่น และอีกความหมายหนึ่ง คือ กาลพฤกษ์ สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้นไม้ที่พร้อมเบ่งบานในทุกปี เติมเต็มความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างความทรงจำในอดีต มาถึงการสร้างสรรค์แห่งปัจจุบัน และพร้อมที่จะผลิดอกอีกครั้งในอนาคต ส่วน เจติยัง หรือองค์พระธาตุพนม ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของของชาวอีสาน และชาวไทย-ลาว ที่อยู่สองฝั่งโขง การเดินทางนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพัน สะท้อนถึงการให้ความเคารพศรัทธา ในพระพุทธศาสนาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน

พระธาตุพนม ไม่เพียงแต่เป็นรากเหง้าของชาวมข. แต่พระธาตุพนมยังถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทอีสาน โดยองค์พระธาตุพนม ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของภาคอีสาน รวมไปถึงชาวไทย-ลาว สองฝั่งโขง เพราะเป็นพระธาตุที่บรรจุพระอุระ (กระดูกส่วนอก) ซึ่งเป็นพระบรมอัฐิของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชนต่างไปสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต และยังเป็นต้นกำเนิดตำนานพระธาตุพนมในอุรังคนิทานในปัจฉิมโพธิกาล การสักการะหรือฝากตัวเป็นลูกพระธาตุพนมจึงเป็นการสะท้อนความเชื่อ ความศรัทธาของชาวไทอีสาน และเป็นการดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาไปพร้อมกัน ซึ่งสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) จึงได้นำจิตวิญญาณที่ชาวอีสานสักการบูชามาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเชื่อมโยงความผูกพันของรุ่นพี่รุ่นน้องทุกคน โดยเป็นตราพระธาตุพนมที่มีเทพยดากระหนาบทั้ง 2 ข้าง สถิตเหนือขอนไม้ซึ่งสลักเป็นชื่อมหาวิทยาลัย และมีพื้นหลังเป็นตรีมุข 3 ช่อง ซึ่งมีความหมายถึงคุณธรรมของนักศึกษา 3 ประการ คือ วิทยา คือความรู้ดี จริยา คือความประพฤติดี และปัญญา คือความฉลาด เกิดแต่การเรียนดีและคิดดี ความสิริมงคลนี้จะถูกประดับไว้ที่หน้าอกข้างซ้ายของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกคน  แม้ว่าแก่นแท้ของกิจกรรมนี้คือการไปสักการะพระธาตุพนม และฝากตัวเป็นลูกพระธาตุ หลานพระธรรม ตามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปี แต่นักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือผู้ศรัทธาพระธาตุพนม ยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสักการะผ่านการเขียนชื่อหรือคำอธิษฐานบนผ้าที่จะใช้ห่มองค์พระธาตุพนม และร่วมบุญสมทบทุนทอดผ้าป่านักศึกษา นำรายได้ถวายแด่วัดพระธาตุพนมด้วย

การจัดริ้วขบวนวัฒนธรรมในแต่ละปีจะนำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในแต่ละท้องถิ่นมาตีความใหม่ และสร้างสรรค์ผลงานออกมา ปีนี้ริ้วขบวนถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ชุดแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ 6-7

พรหมภพ ยังได้เล่าถึงแนวคิดในการจัดริ้วขบวนวัฒนธรรมด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความน่าสนใจและเป็นความภาคภูมิใจขององค์การนักศึกษา คือการจัดริ้วขบวนวัฒนธรรม ที่ในแต่ละปีจะนำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในแต่ละท้องถิ่นมาตีความใหม่ และสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นขบวนนักศึกษาที่เปรียบเสมือนเทพยดาอัญเชิญเครื่องสักการะและผ้าห่มองค์พระธาตุพนมมาสถิตไว้บริเวณพิธี ซึ่งในปีนี้จัดออกมาภายใต้แนวคิด ชุดแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ 6-7 โดยนำแรงบันดาลใจเมื่อสยามเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ข้าราชสำนักฝ่ายในตื่นตัวรับแบบอย่างและวิธีการแต่งกายมาผสมผสานดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มนุ่งซิ่น เสื้อผ้าแพรโปร่งบางหรือผ้าพิมพ์ลายดอก อกเสื้อกว้าง แขนสั้นประมาณต้นแขน ทรงผมไว้ยาวเสมอต้นคอ ดัดเป็นลอนที่เรียกว่าผมบ็อบ ตัดสั้นระดับใบหูตอนล่าง นิยมดัดข้างหลังโค้งเข้าหาต้นคอเล็กน้อยที่เรียกว่าทรงซิงเกิ้ล ใช้เครื่องประดับคาดรอบศีรษะ สวมสร้อยไข่มุก ต่างหูระย้า
ส่วนสมัยรัชกาลที่ 7 เลิกนุ่งโจงกระเบน แต่นุ่งซิ่นยาวแค่เข่า สวมเสื้อทรงกระบอกตัวยาวคลุมสะโพก แขนกุด ผมสั้นดัดเป็นลอน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนไทยสนใจอารยธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่ การแต่งกายจึงเลียนแบบฝรั่งมากขึ้น ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านได้สะท้อนผ่านการแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไป เปรียบเสมือนกาลเวลาที่นำน้องใหม่มาพานพบจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ขบวนปีนี้

การจัดริ้วขบวนวัฒนธรรม นอกจากความคิดสร้างสรรค์ สู่ความงดงามของริ้วขบวนแล้ว การเตรียมงานเบื้องหลังก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะนอกจากนักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการขององค์การนักศึกษา

ภูมินทร์ เกณสาคู อุปนายกองค์การนักศึกษา คนที่ 1 ประธานผู้รับผิดชอบโครงการฯ (กล่าวรายงาน)
ภูมินทร์ เกณสาคู อุปนายกองค์การนักศึกษา คนที่ 1 ประธานผู้รับผิดชอบโครงการฯ (กล่าวรายงาน)

การบริหารจัดการเบื้องหลังการทำงานให้ขับเคลื่อนไปอย่างราบรื่นเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ที่รับหน้าที่ที่สำคัญในปีนี้คือ ภูมินทร์ เกณสาคู อุปนายกองค์การนักศึกษา คนที่ 1 ประธานผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้เล่าถึงความท้าทาย ในการบริหารจัดการโครงการนี้ ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่ มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และที่สำคัญเป็นโครงการที่จัดขึ้นนอกพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้ต้องมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และมีการประสานงานทั้งภายในและภายนอกอย่างครอบคลุม นอกจากองค์การนักศึกษาจะเป็นแม่งานหลักในการจัดโครงการแล้ว ยังได้เชิญนักศึกษาชมรมพุทธศาสน์และประเพณีมาเป็นที่ปรึกษาและคณะทำงานด้านศาสนพิธี และยังได้รับความร่วมมือจากสโมสรนักศึกษาทุกคณะ และวิทยาลัย ในการนำนักศึกษามาเข้าร่วมกิจกรรมและช่วยดูแลนักศึกษาอีกทางหนึ่ง ในขณะที่องค์การนักศึกษาเองได้มีการแบ่งฝ่ายการทำงานให้ครอบคลุมทุกส่วนงาน ทั้งยังได้ประสานงานกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย หน่วยงานภายนอก ณ จังหวัดนครพนม วัดพระธาตุพนม รวมไปถึงการจัดหาที่พัก ชุดเครื่องนอน ยาสามัญประจำบ้าน อาหารครบทุกมื้อ และมีคณะทำงานหลายคนเดินทางไปจัดเตรียมสถานที่ล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด

อีกหนึ่งความภูมิใจของชาว มข. คือการได้นำวงดนตรีโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปแสดงในการสมโภชองค์พระธาตุพนม และสร้างความสุขให้กับนักศึกษาที่ไปร่วมกิจกรรม และพี่น้องชาวอำเภอธาตุพนมที่มาร่วมชมการจัดกิจกรรมด้วย

ผศ.ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์
ผศ.ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์

ภูมินทร์ ยังได้กล่าวถึงผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมนี้ด้วยว่า ขอขอบคุณ ผศ.ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ที่เป็นผู้อำนวยการหลักที่ส่งเสริมการจัดโครงการ รวมถึงขอบคุณกองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ กองป้องกันและรักษาความปลอดภัย ขอกราบขอบคุณเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม คณะสงฆ์ทุกรูป บุคลากรภายในวัด และขอบคุณส่วนราชการทุกหน่วยงานของจ.นครพนม ที่อำนวยความสะดวกในการจัดโครงการ และขอบคุณพ่อแม่พี่น้องชาวนครพนมทุกคน

สำหรับโครงการนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นสักการะพระธาตุพนม ประจำปี 2567 “น้องใหม่ไหว้พระธาตุ”ภายใต้แนวคิด “กาลสักการ์ มหาเจติยัง” จึงเป็นโครงการที่มาจากความภาคภูมิใจขององค์การนักศึกษาช่วยเสริมสร้างความผูกพันในหมู่นักศึกษาและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ลูกพระธาตุหลานพระธรรมทุกคน เป็นประเพณีที่สะท้อนจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างแท้จริง

ข่าว : พรหมภพ วอหา นักศึกษาฝึกสหกิจศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มข. / เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : นางสาวชญานิน สุทธิโคตร นักศึกษาฝึกสหกิจศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มข. / องค์การนักศึกษา

ประมวลภาพกิจกรรม :  https://www.facebook.com/share/p/FiaCM9CiTTTUVccT/?mibextid=WC7FNe

https://www.facebook.com/share/p/xuQt37RrLCUweFGU/?mibextid=WC7FNe

Scroll to Top