เมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการสร้างสรรค์การแสดงหมอลำตามแนวทาง “เพชรศิลป์มอดินแดง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการประกวดการแสดงหมอลำสร้างสรรค์เพชรศิลป์มอดินแดง ครั้งที่ 1 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีวิสัยทัศน์เป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านศิลปกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทางด้านวิชาการและวิชาชีพทางด้านศิลปะการแสดงหมอลำ เรียกได้ว่า “เราเป็น Creative Hub ทางด้านศิลปะการแสดงหมอลำก็ว่าได้” จึงเล็งเห็นโอกาสในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ และทดลองสร้างสรรค์
การแสดงหมอลำในแนวทางที่แตกต่าง เพื่อช่วยทำให้การแสดงหมอลำเกิดการพัฒนาไปอีกขั้น
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับบริษัท นิวเจนเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ผู้ผลิตรายการและศิลปินหมอลำไอดอล เพื่อเฟ้นหานักสร้างสรรค์การแสดงหมอลำที่เปรียบเสมือน “เพชรแห่งศิลปะการแสดงหมอลำ” โดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ วิจัย และการปฏิบัติของคณาจารย์ บุคลากร คณะศิลปกรรมศาสตร์ ตลอดจนศิลปิน-ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหมอลำ
มาทำงานร่วมกับโจทย์ที่เป็นความต้องการของสังคมและผู้ประกอบการหมอลำ
ขณะที่ ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม ประธานโครงการ อธิบายว่า หมอลำเพชรศิลป์มอดินแดงมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างคนหรือนวัตกรที่สามารถสร้างสรรค์การแสดงหมอลำแบบใหม่ โดยยังคงรักษารากเหง้า ภูมิปัญญา และคุณค่าของการแสดงหมอลำ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและผู้ประกอบการ ทั้งในมิติทางศิลปะและมิติทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านพื้นที่ทดลองและเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งผู้จัด ผู้เข้าร่วม วิทยากร คณะกรรมการตัดสิน และผู้ชม
“โครงการมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ ศิลปิน ผู้ประกอบการโดยนำมาร่วมกำหนดเป็นโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของสังคม และอุตสาหกรรมหมอลำ ก่อนจะนำมาออกแบบเป็นกิจกรรมอบรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจแนวคิด และทิศทางของการจัดการประกวด ที่สำคัญเพื่อให้ทุกคนใช้ภูมิรู้ ทักษะ ความสามารถ และศักยภาพของตนเองและสมาชิกในกลุ่มร่วมสร้างผลงานที่สะท้อนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้ได้มากที่สุดและข้ามพ้นข้อจำกัดเดิมที่มีอยู่”
ด้าน คุณสุชาติ อินทร์พรหม ผู้บริหาร บริษัท นิวเจนเอนเตอร์เทนเมนท์จำกัด และคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ทางด้านอุตสาหกรรมศิลปะการแสดง ระบุว่า ปัจจุบันการแสดงหมอลำเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และในอนาคตมีโอกาสที่จะถึงจุดอิ่มตัวเมื่อความนิยมพุ่งไปจนถึงขีดสุด เนื่องจากการแสดงและรูปแบบการนำเสนอที่ซ้ำเดิม โดยรากฐานของปัญหานี้เกิดจากการขาดกำลังคนที่เป็นนักสร้างสรรค์ที่มีพลังความคิดแปลกใหม่ และด้วยอุปสรรคนี้จึงทำให้พวกเราจับมือกันเพื่อเฟ้นหาคนรุ่นใหม่มาร่วมหนุนเสริมให้การแสดงหมอลำก้าวไปข้างหน้า พร้อมกับคงคุณค่าของการแสดงหมอลำเอาไว้ให้ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแข่งขันโครงการประกวดการแสดงหมอลำสร้างสรรค์เพชรศิลป์มอดินแดง ครั้งที่ 1 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวน 6 ทีม ประกอบด้วย
- ทีมเพชรพชาญชัยรุ่งลำเพลิน วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
- ทีมศิลป์เศวตคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
- ทีมฮอยศิลป์ถิ่นอีสาน กลุ่มศิลปินอิสระ จังหวัดขอนแก่น
- ทีมดอกจานบันเทิงศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
- ทีมสาธิตฯ ม.นครพนม โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม จ.นครพนม
- ทีมออนซอนอีสาน เรือนจำกลางขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
ทั้ง 6 ทีมนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการสร้างสรรค์การแสดงหมอลำตามแนวทางของเพชรศิลป์
มอดินแดง ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ณ ห้องปฏิบัติการดนตรีพื้นเมือง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ นักสร้างสรรค์และนักวิจัยการแสดงหมอลำ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข., ผศ.ดร.หิรัญ จักรเสน นักสร้างสรรค์และนักวิจัยทางด้านดนตรีและการแสดงพื้นบ้านอีสาน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข., อ.ดร.อาทิตย์ กระจ่างศรี นักสร้างสรรค์และนักวิจัยทางด้านดนตรีและการแสดงพื้นบ้านอีสาน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข., อ.ดร.ดวงฤทัย บุญสินชัย นักสร้างสรรค์และนักวิจัยทางด้านหมอลำ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข., คุณธีรวัฒน์ เจียงคำ ศิลปินและผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงพื้นบ้านอีสานร่วมสมัยแล การแสดงหมอลำ, คุณสุชาติ อินทร์พรหม ผู้บริหารบริษัท นิวเจนเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด, กรรมการประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะการแสดง จาก Thailand Creative Culture Agency (THACCA) มาร่วมถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง และสร้างโลกทัศน์ตามแนวคิดของโครงการ
หลังจากการอบรม ทั้ง 6 ทีม จะกลับไปสร้างและพัฒนาผลงานการแสดงหมอลำอย่างเต็มรูปแบบภายใต้โจทย์ “ปลาร้า หมอลำ ISAN to theWorld” และจะกลับมานำเสนอผลงานการแสดงรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 27-29 ธันวาคม 2567 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป (นำเสนอการแสดงวันละ 2 ทีม) ณ เวทีลานหน้าตึกขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ ถนนศรีจันทร์
สำหรับผู้มีใจรักศิลปะการแสดงหมอลำหรือประชาชนทั่วไป สามารถมาร่วมให้กำลังใจผลงานของคนอีสานรุ่นใหม่และร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมหมอลำของอีสานบ้านเราเติบโตก้าวหน้าไปสู่โลก ติดตามความเคลื่อนไหวของการประกวดได้ที่เฟซบุ๊ก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือโทรสอบถามได้ที่ 062-4485944, 088-7413609, 087-7238757