มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมนำเสนอผลงานแปลในงานการสัมมนาวิชาการประจำปีเฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 69 พรรษา 2 เมษายน 2567” เรื่อง “จดหมายเหตุเยอรมัน และการเปิดตัวของหอจดหมายเหตุต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์ ครั้งที่ 7”
เมื่อพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08.15 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังกองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปีเฉลิมพระเกียรติ “พลเอกหญิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ด็อกเตอร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 69 พรรษา 2 เมษายน 2567″ เรื่อง “จดหมายเหตุเยอรมัน และการเปิดตัวของหอจดหมายเหตุต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์ ครั้งที่ 7” จัดโดยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นนำโดย ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รศ.ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา, ผศ.ดร.ศิลปกิจ ตี่ขันติกุล ดร.กันตพงศ์ จิตต์กล้า, พระมหาสุริยา ทิพวัลย์, พระธีรวัฒน์ สีหานาม คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จดหมายเหตุเยอรมัน” ทรงถ่ายทอดพระประสบการณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนหอจดหมายเหตุ หอสมุด และสถาบันการศึกษาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในหลายโอกาส การใช้และเนื้อหาของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย จากมุมมองของเยอรมนี ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีในอดีตถึงปัจจุบัน อาทิ เอกสารบันทึกระหว่างข้าราชการระดับสูงของราชอาณาจักรไบเอิร์นกับปรัสเซีย เรื่องเตรียมการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนรัฐไบเอิร์น ในปี 2450 แต่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน เนื่องจากทรงพระประชวรอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน, ภาพถ่ายและเอกสารเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเยือนบ้านเด็กกำพร้า นครมิวนิก ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี 2509
หลังการแสดงปาฐกถาพิเศษ ทรงร่วมสัมมนาในหัวข้อ “การเปิดตัวของหอจดหมายเหตุต่างประเทศทูลกระหม่อมอาจารย์ ครั้งที่ 7 : งานแปลเอกสารสำคัญจากเกาหลีใต้ จีน ฝรั่งเศส เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา” โดยวิทยากรจามหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา เกาหลีใต้ และมหาวิทยาลัยปารีส 1 ซอร์บอนน์ นำเสนอผลงานแปลเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเก็บรักษาในหอจดหมายเหตุทั่วโลก โดยนักวิชาการอาวุโส และหัวหน้าโครงการวิจัย นำเสนอที่มาและลักษณะพิเศษของเอกสาร การแปล และเนื้อหาของเอกสาร โดยคำนึงถึงบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ
โครงการหอจดหมายเหตุกองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษาฯ เป็นโครงการในพระราชดำริฯ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ต่อมาปี 2565 พระราชทานนามใหม่เป็น “หอจดหมายเหตุต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์” เพื่อรวบรวมและจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับประเทศไทยจากหอจดหมายเหตุของต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี และจีน ทรงมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยของอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปิดและพัฒนาบริการให้นักวิชาการ อาจารย์ นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมถึงผู้สนใจ สามารถค้นอ่านและนำเอกสารไปใช้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ดำเนินการตามพระราชดำริ และจัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่จัดร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีแล้ว และเผยแพร่ต้นแบบความเป็น “ทหารวิชาการ” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสถาบันการศึกษา ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ อาจารย์ นิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั้งของทหารและพลเรือน
ข่าว/ ภาพ : ศูนย์อาเซียนศึกษา มข.